“ฉะเชิงเทรา”เมืองอัจฉริยะ ที่น่าอยู่แห่ง EEC

“ฉะเชิงเทรา”เมืองอัจฉริยะ      ที่น่าอยู่แห่ง EEC

อำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง คือพื้นที่นำร่องของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 ฉะเชิงเทรา หนึ่งในสามจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินโครงการฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับแปดริ้วสู่เมืองที่สะดวกสบาย น่าอยู่ ประชาชนมีความสุข มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับจังหวัด ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของเมือง โดยมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครือข่าย Wi-fi และโครงข่าย 5G ในพื้นที่นำร่อง การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment Innovation Center: ENIC) และการพัฒนาระบบข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) โดยฉะเชิงเทราพัฒนาระบบบริการอัจฉริยะครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยการบริหารจัดการคุณภาพน้ำและอากาศด้วย Big Data จากโครงการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำตลอดลำน้ำบางปะกง และเครื่องตรวจวัดอากาศบริเวณชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลจะถูกรวบรวมและแลกเปลี่ยนที่ศูนย์ ENIC พร้อมวิเคราะห์และจัดทำมาตรฐานเพื่อแก้ไข มีการให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะร่วมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแก่ชุมชน โดยขยะไร้มูลค่าที่ได้จากการคัดแยกจะถูกนำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่า โครงการต่าง ๆ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1% ต่อปี ลดปริมาณขยะได้กว่า 70%

2. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียนในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และติดตั้ง Smart Pole ควบคุมแสงสว่างของไฟถนนตามสภาวะแวดล้อม ทำให้การใช้พลังงานลดลงกว่า 5% เมื่อเทียบกับระบบเดิม

3. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) โดยการเปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี นำข้อมูลการท่องเที่ยว เส้นทางการท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร เชื่อมโยงกับหน่วยงานดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเข้าสู่แอปพลิเคชัน ILove8Riew เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร คาดช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชากรกว่า 250,000 บาทต่อปี

4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล มีการแจ้งเตือนฉุกเฉิน และบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงการร้องทุกข์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมด้วยแอปพลิเคชัน Padriew Smart City ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 60% ของประชากรในพื้นที่

5. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) มีการวิเคราะห์ข้อมูลจราจรจากกล้อง CCTV ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายจากบริการ Smart Bus Stop และการจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรใบเดียว (8riew Easy Card) ที่พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย

6. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) มีศูนย์การเรียนรู้และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองฉะเชิงเทรา ประชาชนสามารถพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านกิจกรรม Chachoengsao Hackathon และหลักสูตรต่าง ๆ ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ บุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการส่งเสริม Digital Lifestyle ด้วยแอปพลิเคชัน Smart Educational Institution ที่พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย ทั้งหมดจะทำให้ประชากรกว่า 70% เกิดความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล

7. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มีการยกระดับบริการสุขภาพและสาธารณสุขผ่านโครงการ Smart Digital Healthcare ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิสุขภาพพื้นฐานผ่านกระเป๋าสตางค์สุขภาพในแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต รวมถึง Co-working Space ที่เปิดโอกาสให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพได้พบปะกัน