หุ้นตั้งรับ –สู้ ดอกเบี้ย(ไทย)ขาขึ้น มาเร็วและแรงกว่าคาด

หุ้นตั้งรับ –สู้ ดอกเบี้ย(ไทย)ขาขึ้น มาเร็วและแรงกว่าคาด

หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ครั้งล่าสุด (8 มิ.ย.) มติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ย 0.50 % ทำให้เห็นภาพเสียงแตกระหว่าง 7 กรรมการ 3 เสียงต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนทำให้สัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีมีความชัดเจนไปในทิศทางขาขึ้นมากกว่าทรงตัว

       แรงกดดันมหาศาลมาจากตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือน พ.ค. ที่ประกาศออกมา 7.1 % สูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะเป็นจุดสูงสุดเพราะด้วยราคาน้ำมันในเดือนมิ.ย.มีการปรับราคาขึ้นไปกรอบสูงสุด 35 บาต่อลิตร ส่วนราคาที่แท้จริงคือ 45 บาท  ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่ 120  ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

      บวกกับไม่มีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพมาช่วงพยุงราคามากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการคงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่  30 บาทต่อลิตรอย่างในอดีต  จึงทำให้บรรดาสินค้าอุปโภค - บริโภคต้องขยับขึ้นราคาขายเช่นเดียวกัน จึงเป็นไปได้ยากที่อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมิ.ย.จะแผ่วลง

         หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ  และเป็นระยะเวลานานนอกจากจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไปได้    ยังทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจะเผชิญภาวะถดถอยได้อีกด้วย

          บริบทเศรษฐกิจที่ยังต้องประคับประคองให้การฟื้นตัวยังมี  ผ่านภาคการท่องเที่ยวที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างที่พึ่งพิงราคาน้ำมันด้วยการนำเข้าทำให้การใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายไม่สามารถดึงให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้

        ดังนั้นหากประเมินจากระยะเวลาที่เหลือปี 2565 ยังมีการประชุมของ กนง. อีก 3 ครั้งคือ วันที่ 10 เดือนส.ค.   ,วันที่  28  เดือนก.ย. และวันที่ 30 พ.ย.  หากยังคงดอกเบี้ยนโยบายยิ่งทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศมากขึ้น 

       ดังนั้นท่าทีของผู้ว่าการแบงก์ชาติล่าสุดที่ออกมาจึงส่งสัญญาณแรงการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ช้าจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยช้าโอกาสที่ในอนาคตจะต้องขึ้นดอกเบี้ยคราวละมากๆ จะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็นเช่นนั้น

        มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวเท่าระดับก่อนเกิดโควิดได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าซึ่งอาจจะช้ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพำการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีแม้หลายคนจะมองว่าเศรษฐกิจ ไทยฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง หรือยังไม่เทียบเท่ากับที่เคยเติบโต แต่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวก็มีน้อยลง

       ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นบวกกับเงินเฟ้อแรงล้วนไม่เป็นมิตรต่อการลงทุนในตลาดหุ้นที่เจอโยกย้ายเม็ดเงินไปยังตลาดที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าแต่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดพันธบัตร เป็นต้น

       กลุ่มหุ้นที่เจอแรงกระทบแรงจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมหนีไม่พ้นธุรกิจที่มีหนี้เยอะและจำเป็นต้องกู้เงินมาปล่อยกู้อีกที  ซึ่งมีหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ หรือ Hire Purchase 

      กลุ่มนี้ทางบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย)  มองว่าจะเจอต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นมีหุ้นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว เช่าซื้อ  อาทิ KKP และ TISCO    รวมทั้งกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลต่อผู้ซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยโดยตรง เนื่องจากมีภาระด้านดอกเบี้ยขึ้น

       ส่วนกลุ่มที่มีมุมมองดีและสามารถสู้กับเงินเฟ้อเพราะได้รับผลดีจากดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งหากกนง.จะขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ดีกับกลุ่มธนาคาร จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM จะดีขึ้น เพราะฝั่งขาเงินฝากซึ่งเป็นต้นทุนของธนาคารมีการคงดอกเบี้ย  แต่ฝั่งขาปล่อยกู้ไม่มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงแนะนำ  สะสม KBANK,BBL,TTB

     นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประกันที่คาดการณ์กำไรลงทุนเพิ่ม  จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งไทยและสหรัฐ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นใหล้เคียงกับอายุ 2 ปี หรือ Inverted yield curve  มีหุ้น แนะนำ  BLA,THREL,TIPH เป็นต้น