รู้จัก "ภาษีบ้านเกิด" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย

รู้จัก "ภาษีบ้านเกิด" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย

ชวนรู้จัก “ภาษีบ้านเกิด” (Hometown Tax) ของญี่ปุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ที่เราเลือกได้เองว่าอยากจ่ายภาษีให้เมืองไหน แถมยังได้สุดยอดของกำนัล ของดี ของอร่อยประจำเมืองนั้นๆ เป็นการตอบแทน

จากข่าวใหญ่ที่ญี่ปุ่นเรื่องหน่วยงานรัฐทำงานผิดพลาด โอนเงินผิดกว่า 40 ล้านเยนจนกลายเป็นดราม่าตามทวงกันวุ่นวาย เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ถัดจากนั้นไม่นาน ก็มีอีกหนึ่งเคส คล้ายๆ กัน คือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำงานผิดพลาด เสียหายไปกว่า 2 ล้านเยน แต่ครั้งนี้ชาวเน็ตกลับร้องอยากให้ผิดอีกเยอะๆ!!

ที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะความผิดพลาดครั้งหลัง เกิดเมื่อเจ้าหน้าที่ จ.มิยาซากิ ทำการส่ง “เนื้อวากิว” สุดหรู ของดีจากมิยาซากิ ในฐานะ “ของขวัญ” ไปให้ผู้บริจาคภาษีในโครงการ “ภาษีบ้านเกิด” (Hometown Tax) แต่เกิดความผิดพลาดส่งซ้ำสองรอบ

ถ้าเป็นช่วงปกติ คนที่ได้รับก็คงทานไปเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความที่เรื่องเกิดหลังจากเหตุการณ์โอนเงินผิดจำนวนมหาศาลไม่ถึงเดือน ประเด็นการได้รับของจากการส่งผิดพลาด เลยดูจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวญี่ปุ่น เพราะถ้ารับไว้ ก็กลัวจะมีความผิดทางกฎหมาย

ฝั่งเจ้าหน้าที่ เมื่อรู้ว่า ส่งของไปซ้ำสองรอบ ก็เลยต้องรีบส่งอีเมลไปแจ้งผู้รับว่า ไม่ต้องนำเนื้อสุดหรูกลับมาคืนนะ.. แต่ขอให้ทานให้หมดเลยจะดีที่สุด เพราะกว่าจะส่งกลับมาถึงเนื้อก็คงเน่าไปแล้ว ซึ่งก็เลยกลายเป็นที่มาของความเห็นต่างๆ จากชาวเน็ต ที่มีทั้งร้องเสียดาย อยากโชคดีแบบนั้นบ้าง ไปจนถึงการตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่โลกดิจิทัลขนาดนี้ ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาดในเรื่องดังกล่าว

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า “ภาษีบ้านเกิด” หรือ Hometown Tax คืออะไร ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบกันนัก แล้วทำไมจ่ายแล้ว ถึงได้ของกินอร่อยๆ กลับมาด้วย?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ “ภาษีบ้านเกิด” ซึ่งเราเคยเล่ากันไปแล้วจากบทความ “ยิ่งจ่าย 'ภาษี' ยิ่งได้! ส่องระบบจ่ายภาษีที่ทำให้คนญี่ปุ่นแฮปปี้” เมื่อ 23 ก.ค.63 (อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่) แต่จะขอนำกลับมาเล่าอีกครั้ง

ถ้าให้ว่าโดยสรุป ภาษีสุดอร่อยเหล่านี้ ที่จริงมันมีที่มาก็เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป้าหมายคล้ายๆ กับ “ภาษีที่ดิน” ที่บ้านเรากำลังตื่นตัวอยู่ในตอนนี้ คือ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ เพียงแต่ว่า รูปแบบภาษีบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้เราเลือกได้ว่า จะจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นไหน นั่นเอง

รู้จัก \"ภาษีบ้านเกิด\" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย

“ภาษีบ้านเกิด” Hometown Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ฟุรุซาโตะ โนเซ (Furusato Nozei) หรือ ふるさと納税 ในภาษาญี่ปุ่น คือ ระบบการจ่ายภาษีให้กับบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มประกาศใช้นโยบายดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2551 เพื่อหวังจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นในเขตชนบท และเขตเมือง

หลักการเบื้องต้นของ “Furusato Nozei” ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ภาษีบ้านเกิด” (Hometown Tax) คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถโอน “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” ไปให้เมืองที่เราอยากบริจาคให้

ที่มาของ ฟุรุซาโตะโนเซ เกิดจากการที่ญี่ปุ่นเองก็เคยเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่จากสภาพ “เมืองกระจุก” เนื่องจากประชากรท้องถิ่นต่างมุ่งหน้าเข้าเมือง เพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า จนส่งผลให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้ลดลง และไม่เพียงพอในการจัดทำบริการสาธารณะ

รู้จัก \"ภาษีบ้านเกิด\" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย
แฟ้มภาพ จาก unsplash

ขณะที่เงินอุดหนุนจากส่วนกลาง คือ รัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นก็มีจำกัด ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเมืองในระยะยาว รวมถึงไม่เหลือสำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย โมเดลการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความเป็นอิสระทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้นอีกด้วย (อ้างอิง : สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย จาตุรนต์ เทพเดชา)

 

ระดมทุนเฉพาะกิจ ผ่านโครงการบริจาค “ภาษี”

แม้จะชื่อว่า “ภาษีบ้านเกิด” แต่ผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องโอนเงินไปที่บ้านเกิดก็ได้ จากบทความ “ลดความเหลื่อมล้ำบ้านเกิดด้วย Hometown Tax” โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ยกกรณีที่น่าสนใจ เช่น เมื่อตอนเกิดอุทกภัย-ดินถล่มฉับพลันหลังเหตุแผ่นดินไหวที่ เมืองคุมาโมโตะ จ.คุมาโมโตะ พบปัญหาความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานราชการ ต้องใช้เวลาพิจารณาหลายขั้นตอนกว่าจะได้เงิน ท้องถิ่นจึงระดมเงินทุนช่วยเหลือเพิ่มเติม และได้รับเงินจาก “ภาษีบ้านเกิด” มากกว่า 570 ล้านเยน ซึ่งทางเมืองก็ได้ส่งของตอบแทนผู้บริจาคเป็น เครื่องเซรามิกส์ที่แตกเสียหายจากแผ่นดินไหว และเชื่อมประสานด้วยทองคำ ตามเทคนิควาจิมะ

รู้จัก \"ภาษีบ้านเกิด\" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย
(แฟ้มภาพ) เหตุการณ์แผ่นดินไหว เมืองคุมาโมโตะ พ.ศ.2559

หรืออย่างตอนที่ เขตชิบูย่า มหานครโตเกียว มีรายได้จากโฆษณาและค่าเข้าชมการแข่งขันของสมาคมฟันดาบลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้นักกีฬาขาดเงินทุนในการฝึกซ้อมและเดินทางไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ ทางท้องถิ่นจึงระดมเงินผ่าน Hometown Tax เพื่อสนับสนุนให้นักกีฬาได้มีโอกาสทำตามความฝัน

นอกจากนี้ก็ยังมีเคสดีต่อใจอย่าง เมืองทาระ จ.ซากะ ซึ่งคนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขณะที่อัตราการเกิดก็ลดลงเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวเมือง จึงเกิดโครงการรับบริจาคภาษีได้เงินมาทั้งสิ้น 742 ล้านเยน และนำเงินมาปรับปรุงพื้นที่เกษตรที่ลาดชันให้เป็นพื้นที่ราบ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำการเกษตรได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการดูแลและทุนการศึกษาเด็กในท้องถิ่น เป็นต้น

 

โครงสร้างระบบภาษีที่ ผู้เสียภาษี และ ท้องถิ่น ออกแบบเองได้

เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีแบบดังกล่าวนั้น ข้อดีที่สุดว้าว ก็คือ การ “ออกแบบได้” ทั้งจากฝั่งผู้เสียภาษี หรือ ผู้บริจาคภาษี และ ฝั่งผู้รับ นั่นก็คือ ท้องถิ่น โดยขณะที่ฝั่งผู้บริจาค สามารถเลือกบริจาคภาษีได้มากสุด 5 เมือง ซึ่งในยามปกติ ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกจาก “ของที่อยากได้” ซึ่งเมืองต่างๆ จะนำข้อมูลขึ้นไปแจ้งไว้บนเว็บไซต์ ว่า ถ้าบริจาคเงินให้เมืองของตนแล้ว ผู้บริจาค จะได้รับอะไรเป็นการตอบแทน

รู้จัก \"ภาษีบ้านเกิด\" ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย เซ็ทเนื้อวากิวสุดหรู สำหรับผู้บริจาคภาษี 1 ล้านเยนให้เมืองอิมาริ จ.ซากะ (ที่มา : www.furusato-tax.jp)

สำหรับของตอบแทนนั้น ก็คล้ายกันกับการส่งเนื้อวากิวแก่ผู้บริจาคภาษีให้เมืองมิยาซากิ ตามที่เล่าไว้ข้างต้น โดยมีทั้งของกิน ของใช้ที่เป็นของดี ของดัง ของเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้ โดยที่ฮิตสุดๆ เห็นจะเป็นเนื้อพรีเมียมของดีของแต่ละเมืองที่ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า เนื้อวัวของตัวเองนั้นอร่อยสุดๆ

และยังมีข้าวสาร ชาเขียว จนถึงอาหารมื้อพิเศษ Chef’s table โดยเชฟคนดังของเมือง ส่วนสายเที่ยวก็สามารถหาแพ็คเกจท่องเที่ยวต่างๆ ขณะที่สายช้อปก็มีสินค้าต่างๆ ให้เลือกด้วยเช่นกัน โดยของขวัญตอบแทนนั้นก็จะลดหลั่นตามจำนวนเงินภาษีที่เราบริจาคไปนั่นเอง

 

โมเดลต้นแบบ สู่หลายประเทศ

จากความช่างคิดของชาวญี่ปุ่น ที่สามารถสร้างสรรค์ระบบภาษีนี้ขึ้นมา เมื่อบวกกับการออกแบบวิธีการให้ใช้งานง่าย สร้างความรู้สึกร่วมให้ประชาชนรู้สึกยินดีกับการเสียภาษี แถมยังเป็นการกระตุ้นการแข่งขันระหว่างองค์กรท้องถิ่น เพื่อจัดทำและพัฒนาบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบภาษีดังกล่าว ซึ่งจากเดิมในปี 2551 มีผู้สนใจบริจาคภาษีเพียง 5.4 หมื่นครั้ง รวมยอดบริจาคคิดเป็นเงินไทย 2.4 พันล้านบาทนั้น แต่ในปี 2561 ท้องถิ่นเริ่มแข่งขันดึงเงินบริจาคด้วยของกำนัลมูลค่าสูงจนเกินไป ก็เลยเกิดปัญหา “ขาดทุน” จนรัฐบาลต้องกำหนดมูลค่าของของสมนาคุณ ให้ไม่เกิน 30% ของเงินบริจาค ก็ทำให้ยอดเงินลดลงมาเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการบริจาค “ภาษีบ้านเกิด” ยังคงได้รับความนิยม โดยในปี 2562 มียอดบริจาคกว่า 23 ล้านครั้ง คิดเป็นเงิน 14.6 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2563 ซึ่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นแล้ว แต่กลับพบว่า ยอดบริจาคสวนพิษเศรษฐกิจอย่างมาก โดยปีงบประมาณ 2564 ซึ่งปิดปีที่เดือนมีนาคม พบว่า ยอดบริจาคพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 672.5 พันล้านเยน หรือประมาณ 1.88 แสนล้านบาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย ณ มี.ค.64 ที่ประมาณ 28 บาท ต่อ 100 เยน)

ความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มคิดหาวิธีประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง เช่น สหรัฐอเมริกา ก็อยู่ระหว่างศึกษา แต่เรื่องการรับของสมนาคุณอาจไม่ดึงดูดใจประชาชน จึงคาดว่า จะปรับเอาแนวคิด “การระดมทุน” เพื่อโครงการสาธารณะในท้องถิ่นมาใช้โดยสร้างแรงจูงใจเรื่องการลดหย่อนภาษี

ขณะที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง หลายเมืองเริ่มประสบปัญหาความมั่นคงทางการเงิน จึงคิดที่จะนำแนวคิด “ภาษีบ้านเกิด” ของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นของตัวเองด้วย

อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ , ธนาคารแห่งประเทศไทย , furusato-tax.jp