“หุ้นโรงพยาบาล" ไม่หวั่น “เงินเฟ้อ” ผู้ป่วยต่างชาติพุ่งรับเปิดประเทศ

“หุ้นโรงพยาบาล" ไม่หวั่น “เงินเฟ้อ” ผู้ป่วยต่างชาติพุ่งรับเปิดประเทศ

“เงินเฟ้อ” กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือนพ.ค. พุ่งแรง 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี จากราคาน้ำมัน อาหารสดที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนแบงก์ชาติส่งสัญญาณพร้อม “ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ”

พร้อมปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2565 เป็น 6.2% จากเดิม 4.9% สูงกว่าตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่มองไว้ 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5% ส่วนปี 2565 แบงก์ชาติมองเงินเฟ้อที่ 2.5% จากเดิม 1.7% 

เมื่อธนาคารกลางส่งสัญญาณหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ เท่ากับว่าประตูดอกเบี้ยขาขึ้นเตรียมเปิดแล้ว และเมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ย ย่อมมีทั้งฝั่งที่ได้ประโยชน์ เช่น ธนาคารพาณิชย์ที่จะมีรายได้จากการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น 

ในทางตรงกันข้ามธุรกิจอื่นๆ ต้องเตรียมแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทันที แต่ขณะเดียวกันบางธุรกิจสามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้าได้ หนึ่งในนั้น คือ “โรงพยาบาล” ซึ่งโดยปกติจะปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้หุ้นโรงพยาบาลเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงจังหวะเงินเฟ้อขาขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยบวกช่วยหนุนธุรกิจปีนี้ ทั้งการเปิดประเทศที่จะเปิดทางให้คนไข้ต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยได้สะดวกสบายขึ้น โดยสัปดาห์หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอ ศบค. ยกเลิก “ไทยแลนด์ พาส” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 ก.ค. นี้

ขณะเดียวกันในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา ไฟเขียวฟรีวีซ่า 30 วัน ให้นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย หลังทั้ง 2 ชาติ กลับมายกระดับความสัมพันธ์ในรอบกว่า 30 ปี โดยตั้งเป้าจะมีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มเป็นปีละ 100,000-150,000 คน จากเดิมปีละประมาณ 30,000 คน

โดยชาวตะวันออกกลางเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และนิยมเข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย ยิ่งปัจจุบันราคาพลังงานราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความมั่งคั่งให้กับชาวตะวันออกกลาง หนุนให้มีการเดินทาง มีการใช้จ่ายมากขึ้น และเชื่อว่าจะยิ่งคึกคักขึ้นไปอีกหลังผ่านพ้นเทศกาลถือศีลอด

ถือเป็นปัจจัยบวกให้กับผู้ประกอบการที่ลูกค้าต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการ ทั้งบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างชาติเกือบ 70% โดยเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ให้บริการรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติกว่า 180 ประเทศ รวมกว่า 632,000 ครั้ง

โดยประเทศที่ทำรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ด้านบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กลุ่มโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ของประเทศ มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติราวๆ 30%

และถึงแม้ว่าปีนี้แนวโน้มรายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งการตรวจหาเชื้อ การฉีดวัคซีน การรักษาผู้ป่วย ของโรงพยาบาลต่างๆ จะลดลง หลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย แต่จะมีรายได้จากการรักษาโรคทั่วไปเข้ามาชดเชย ทั้งกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปและประกันสังคม โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564

ขณะเดียวกันกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจโรงพยาบาลในไตรมาส 3 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ทำให้เป็นช่วงที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดของปี 

ขณะเดียวกันในระยะยาวธุรกิจโรงพยาบาลจะได้รับประโยชน์จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนจะมีอายุยืนยาวขึ้น และหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น

“หุ้นโรงพยาบาล" ไม่หวั่น “เงินเฟ้อ” ผู้ป่วยต่างชาติพุ่งรับเปิดประเทศ

โดยบล.เคทีบีเอสที ระบุ ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม “Healthcare Services” เป็น “Overweight” จากเดิม “Neutral” สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ขณะที่การเปิดประเทศส่งผลให้โมเมนตัมของผู้ป่วยต่างชาติฟื้นตัว

โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism ส่งผลให้รงพยาบาลที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติจำนวนมากน่าสนใจมากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 มีความน่าสนใจลดลง เนื่องจากประเมินว่าผู้ติดเชื้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ทำให้ในปี 2565 โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยต่างชาติและมีฐานรายได้โควิด-19 ต่ำ จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ BH , BDMS, PR9, และ EKH

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีโอกาสเห็นการปรับขึ้นอัตราค่ารักษาประกันสังคมในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุน หลังผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 จะกลับมาจ่ายเงินสมทบในอัตราปกติที่ 5% สูงสุด 750 บาท และ 9% หรือสูงสุด 432 บาท ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุน

ประกอบกับจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และจะมีการรวมค่ารักษาโควิดในค่าบริการทางการแพทย์ โดยการปรับขึ้นอัตราค่ารักษาประกันสังคมจะส่งผลบวกโดยตรงต่อ BCH และ CHG