ออมสิน ส่งสัญญาณตรึง ‘ดอกเบี้ยต่ำ’นานสุด หวังลดภาระประชาชน

ออมสิน ส่งสัญญาณตรึง ‘ดอกเบี้ยต่ำ’นานสุด หวังลดภาระประชาชน

ออมสิน ไม่สนเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น เตรียม ‘ตรึงดอกเบี้ยต่ำนานที่สุด’ ขอขึ้นเป็นคนสุดท้าย หวังช่วยลดภาระประชาชน ด้านกรุงศรี ชี้เริ่มเห็นแบงก์ลดแข่งดอกเบี้ยคงที่ยาว 3 ปี ลดเหลือคงที่ 1 ปี ชี้หาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว แรง มีโอกาสเห็นดอกเบี้ยทั้งกระดานปรับเป็นลอยตัว

ออมสิน ลั่นขึ้นรายสุดท้าย

      นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับการส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพื่อปรับนโยบายการเงินไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้น ในส่วนของธนาคารออมสิน เชื่อว่า ออมสินจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยตาม กนง.ทันที หากมีการขึ้นดอกเบี้ย

      โดยธนาคารจะตรึงดอกเบี้ยต่ำให้ได้นานที่สุด แม้ดอกเบี้ยในระบบจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นธนาคารที่ขึ้นช้าที่สุดของตลาด หรืออาจเป็นธนาคารที่ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยที่สุด หากเทียบกับทั้งระบบ เพราะภารกิจของธนาคารออมสิน คือ การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจที่รับมาจากรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชน

        นายวิทัย กล่าวว่า การที่ออมสิน สามารถตรึงดอกเบี้ยต่ำได้นานที่สุด หรือขึ้นดอกเบี้ยได้ช้าที่สุดได้ในระบบ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะปัจจุบัน ธนาคารออมสินมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ หากเทียบกับธนาคารในระบบ เพราะเงินฝากส่วนใหญ่ เกินครึ่งหนึ่งเป็นสลากออมสิน ที่มีระยะเวลาฝากนานที่สุดในระบบ ทำให้มีความได้เปรียบจากดอกเบี้ยขาขึ้น

    ซึ่งต่างจากธนาคารอื่นที่พอร์ตเงินฝาก 50-70% ส่วนใหญ่เป็นออมทรัพย์ แต่สลากของธนาคารออมสิน ส่วนใหญ่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป

      อย่างไรก็ตาม แม้มีการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นในระยะข้างหน้า ก็เชื่อว่า ผู้กู้เก่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากภาระผ่อน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่

     โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2-3 ปี และหากดอกเบี้ยในกระดานปรับขึ้น ผู้บริโภคก็มีภาระผ่อนค่างวดเท่าเดิม แต่สำหรับผู้กู้ใหม่ อาจมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น

       “หากดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวขึ้นตาม กนง. เราก็คงปรับช้าที่สุด เราอยากตรึงดอกเบี้ยต่ำไว้นานที่สุด เราอาจดีเลย์การขึ้นดอกเบี้ยเป็นคนสุดท้าย เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ เหมือนพันธกิจของธนาคาร และสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นการฟิกเรทระยะยาวอยู่แล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยบ้านของธนาคาร ก็มีการฟิกเรท 2-3% ปี ดังนั้นดอกเบี้ยไม่เปลี่ยน”

      อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลดีต่อสถาบันการเงินในระบบ ให้มีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น แต่ส่วนของออมสิน แม้จะมีกำไรเพิ่มขึ้น ก็นำกำไรส่วนนี้คืนสู่สังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชน และคืนสู่รัฐบาล ซี่งต่างกับพันธกิจของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

       นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับการส่งสัญญาณของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่พร้อมปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระดับที่ดีนั้น ในแง่ของระบบธนาคารก็คงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เหมือนกันกับในระบบ เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทันที

       อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากสัญญาณของดอกเบี้ยขาขึ้นที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการเงิน มีการปรับตัวไปบ้างแล้ว เพื่อรับกับแนวโน้มนี้

      โดยเฉพาะดอกเบี้ยบ้านที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีการยกเลิกการคงอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ยาวไปถึง 3 ปี มีเหลือเพียงการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เฉพาะปีแรกเท่านั้น เหล่านี้ก็เป็นสัญญาณการปรับตัวของระบบธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะข้างหน้า

     ทั้งนี้หากสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน เชื่อว่ามีโอกาสเห็นการทำโปรโมชั่นดอกเบี้ยบ้านของตลาดลดลง

     โดยเฉพาะการให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ไปสู่การใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวทั้งหมด หากดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็ว และแรงในระยะข้างหน้า

ผู้กู้เก่าไม่กระทบ

      นายณัฐพล กล่าวว่า แม้ดอกเบี้ยในระบบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม กนง. เชื่อว่าผู้กู้เดิม อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะในส่วนของการทำสัญญาการกู้ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน มีการคิดอัตราผ่อนชำระเท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากค่างวด มีการคิดค่าเผื่อของอัตราแปรผันจากอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว

    ดังนั้นมองว่า แม้ดอกเบี้ยในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผู้กู้เดิมอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะอัตราผ่อนชำระยังคงเดิม

     อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้กู้ใหม่ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อด้านจิตวิทยาของผู้กู้ ในด้านการผ่อนชำระ และภาระค่างวดที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้อาจมีการกู้น้อยลง หรือชะลอการขอสินเชื่อได้ แต่ก็มีบางกลุ่ม ที่ใช้โอกาสนี้ เร่งขอสินเชื่อ ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ เร่งขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ในระยะนี้

     ในส่วนของสินเชื่อบ้านกรุงศรี ภาพรวม การปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยการปล่อยสินเชื่อโดยรวมยังเติบโตดีกว่าตลาด โดยสินเชื่อบ้านโดยรวมของตลาดในไตรมาส1 อยู่ที่ 1.43 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกปีก่อน ที่ปล่อยได้ 1.39 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นการเติบโตราว 3%

ไตรมาส 2 สินเชื่อยังโต

     ส่วนแนวโน้ม ไตรมาส 2 มองว่ายังมีแรงส่ง หนุนให้สินเชื่อเติบโตดีต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทั้งสินเชื่อในระบบ และสินเชื่อบ้านของกรุงศรี ที่คาดว่าจะดีขึ้นด้วย โดยคาดการณ์สินเชื่อในระบบปีนี้ คาดเติบโตได้ 5-7% หรือคิดเป็นสินเชื่อรวมที่ 4.73-4.82 ล้านล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านบาท

      ขณะที่สินเชื่อบ้านกรุงศรีฯ คาดว่าปีนี้น่าจะทำได้ดีกว่าตลาดเกิน 5-7% จากการสินเชื่อที่เข้ามาเพิ่มต่อเนื่อง จากกลุ่มที่ชะลอซื้อในช่วงโควิด-19 และกลับมามีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

     หลักๆ มาจากมนุษย์เงินเดือนเป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการ ยังมีความจำเป็นในการใช้เงินทุนเพื่อสร้างศักยภาพการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มากกว่าตัดสินใจซื้อบ้าน หรือหันมากู้เพื่อใช้ในกิจการมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์