กบร.รับร่างโรดแมพฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ลุยแผนเร่งด่วนเพิ่มสภาพคล่อง

กบร. รับร่างโรดแมพแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 จ่อเสนอ ครม.อนุมัติ ลุยแผนเร่งด่วนเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกเดินทาง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติรับร่าง Roadmap แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 2565-2568 และร่างนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างมากต่อการช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน และเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินของของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในปี 2563 มีผู้โดยสารลดลงจากปี 2562 ถึง 64.7% และปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดลดลง 53.1% ต่อเนื่องปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 64.1% และปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดลดลง 48.5% ส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินลดลง 20.88% และรายรับในการประกอบการการบินลดลงมากถึง 70.96%
อีกทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประมาณการการฟื้นตัวของผู้โดยสารซึ่งมีความสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่า อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและรองรับการฟื้นตัวที่จะเกิดขึ้น CAAT ตามมติ กบร. จึงได้ศึกษาและจัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมและปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 2565-2568
โดยกรอบแนวคิดและแผนปฏิบัติของแผนฯ มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” โดยในปี 2565 มีเป้าหมายระยะ Quick-win ตามมาตรการ “อยู่รอด” คือ อุตสาหกรรมการบินมีความพร้อมสำหรับการเปิดทำการบินอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2565 มีเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงที่ยังคงมีการระบาด
โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก พัฒนาความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินเพื่อกระตุ้นความต้องการในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ไปพร้อมกับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ประกอบการ เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน
สำหรับปี 2566-2568 เป็นเป้าหมายระยะกลางตามมาตรการ “เข้มแข็ง และ ยั่งยืน” คือ ประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรมการบินที่จะรองรับการจราจรทางอากาศเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติหรือเทียบเท่ากับปี 2562 ในปี 2568 ที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 165 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน
โดยมีเป้าหมาย เช่น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบ New Normal ในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน โดยการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับ รวทั้งยกระดับมาตรฐานใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ของไทยให้ทัดเทียมสากล เป็นต้น
ทั้งนี้ กพท.จะดำเนินการส่งร่างฯ ให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็น ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยร่างนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ จะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ 1. ด้านเศรษฐกิจการบิน 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. ด้านมาตรฐานการบิน
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ตนได้สั่งการให้ กพท. หารือร่วมกับสนามบิน สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้โดยสารทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายการเข้าประเทศ ซึ่งจากสถิติผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก IATA คาดการณ์ว่าภายในปี 2565 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน และจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการด้านการบินอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2568