ท่องเที่ยวฯ ชง ศบค. “ยกเลิกไทยแลนด์พาส” นักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 ก.ค.นี้

ท่องเที่ยวฯ ชง ศบค. “ยกเลิกไทยแลนด์พาส” นักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 ก.ค.นี้

“พิพัฒน์” ลุยชง “ศบค.” 17 มิ.ย.นี้ พิจารณา “ยกเลิกไทยแลนด์พาส” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป “ททท.” เตรียมระดมความเห็นภาคเอกชนท่องเที่ยวไทย 10 มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอ ศบค.คลายล็อก อำนวยความสะดวกเพิ่ม

++ ชงยกเลิกไทยแลนด์พาส เริ่ม 1 ก.ค.65

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 17 มิ.ย.นี้ พิจารณา "ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส" (Thailand Pass) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป

หลังได้ยกเลิกแก่คนไทยไปแล้ว มีผลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสอยู่ เพื่อแจ้งข้อมูลหนังสือเดินทาง ประวัติการฉีดวัคซีน และการทำประกันสุขภาพ 

โดยในความเป็นจริง ประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย “เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ” ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป คลายล็อกมาตรการเดินทาง ว่าหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดยังไม่ครบโดส ก็สามารถเดินทางเข้าไทยได้ “ไม่ถูกกักตัว” โดยให้แสดงผลตรวจหาเชื้อแบบ Pro-ATK หรือ RT-PCR ล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ทั้งนี้ถ้ายังไม่มีผลตรวจ เมื่อเดินทางมาถึง สามารถตรวจ Pro-ATK เมื่อถึงสนามบิน

“หาก ศบค.เห็นด้วยให้ยกเลิกไทยแลนด์พาสไปเลย จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยสะดวกขึ้น และไม่บังคับทำประกันสุขภาพอีก ช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางข้ามชายแดนเข้ามามากขึ้น”

++ คาดเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเร็วสุด Q4/65

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ค่าเหยียบแผ่นดิน อัตราคนละ 300 บาท คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางทางอากาศ อย่างเร็วภายในไตรมาส 4 นี้ หรืออย่างช้าในไตรมาส 1 ปีหน้า 

ทั้งนี้กระทรวงฯจะใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 เดือน เกี่ยวกับประเด็นการเดินทางข้ามชายแดนผ่านทางบกและทางเรือ เนื่องจากเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาแล้ว ใช้เวลาพำนักในไทยน้อยกว่ากลุ่มที่เดินทางทางอากาศ หากจัดเก็บที่อัตรา 300 บาทเท่ากัน อาจไม่เป็นธรรม

เมื่อศึกษาเสร็จ จะนำผลการศึกษาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อ ครม.อนุมัติ พร้อมประกาศใช้ภายในอีก 90 วันถัดจากนั้น

 

++ ระดมความเห็นเอกชนเสนอ ศบค.ปลดล็อกเพิ่ม

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วันที่ 10 มิ.ย.นี้ ททท.จะประชุมร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยว ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกหรือปลดล็อกเรื่องใดเพิ่มเติม เช่น ประเด็นการยกเลิกไทยแลนด์พาส การอนุญาตให้ถอดหน้ากากในที่โล่ง และยกเลิกการกรอกใบ ตม.6 ของชาวต่างชาติ เพื่อรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ศบค.วันที่ 17 มิ.ย.นี้

 

++ ฟื้นงานเทรดโชว์ TTM+ 2022 ในรอบ 2 ปี

ทั้งนี้ ททท.ได้จัดงาน Thailand Travel Mart Plus 2022 (TTM+ 2022) งานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า จ.ภูเก็ต โดยถือเป็นการกลับมาจัดงาน TTM+ อีกครั้งในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 สอดรับกับ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565-2566” และนโยบาย “เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ” ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป

โดยเชิญผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเข้าร่วมงานในฐานะผู้ขาย (Seller) จำนวน 264 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานในฐานะผู้ขาย (Buyer) ทั้งสิ้น 277 ราย จาก 45 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน ททท.ยังได้จัดงานในรูปแบบไฮบริด เพิ่มรูปแบบออนไลน์สำหรับประเทศที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1,290 ล้านบาท จากจำนวนนัดหมายเจรจาธุรกิจภายในงานฯ 8,900 นัดหมาย

 

++ ตั้งเป้าปี 67 รายได้ฟื้น 100% สู่ 3 ล้าน ลบ.

ปี 2565 ททท.คาดการณ์ว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะสร้างรายได้รวมอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 7-10 ล้านคน-ครั้ง และนักท่องเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสม 1.4 ล้านคนแล้ว

โดยในช่วงโลว์ซีซั่นตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ ททท.ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 500,000 คนต่อเดือน จากปัจจัยสนับสนุนการยกเลิกระบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป ส่งต่อถึงไฮซีซั่น เดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1 ล้านคนต่อเดือน

ทั้งนี้ในปี 2566 ททท.คาดการณ์ว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเป็น 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้ปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

จากนั้นในปี 2567 ตั้งเป้าฟื้นรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 100% กลับไปสู่จุดที่เคยทำได้ 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่าเดิมที่ 2 ล้านล้านบาท แต่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 25-30 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 โดยเน้นเพิ่มค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวคุณภาพ ส่วนรายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย ตั้งเป้าที่ 1 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาสมดุลรายได้ระหว่างตลาดในและต่างประเทศที่อัตราส่วน 1 : 2