ลดปัจจัยลบ ฟื้นเศรษฐกิจไทย

ลดปัจจัยลบ ฟื้นเศรษฐกิจไทย

แม้สภาพคล่องระบบการเงินจะสูง แต่ภาคครัวเรือนและธุรกิจยังน่าเป็นห่วง รายได้ยังไม่ฟื้นและหนี้ยังเต็มตัว รัฐบาลต้องหาทางลดปัจจัยลบให้ได้มากที่สุด

ภาวะเศรษฐกิจยามนี้ยังดูน่ากังวล แม้มีเค้าลางการขยับฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการ การเปิดรับนักท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยลบที่ยังอยู่ ทั้งเรื่องราคาพลังงาน ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ยังส่งผลกระทบ และมีความน่าเป็นห่วง วานนี้ (8 มิ.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และการส่งผ่านต้นทุนที่มาก และนานกว่าคาด หากเมื่อมองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามคาด คณะกรรมการ กนง. ส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

กรรมการอีก 3 คน เห็นว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ มีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวปี 2565 และ 2566 ที่ 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมากโดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น เช่นเดียวกับภาคแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

แม้ดูแล้ว มีแววที่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้ ท่ามกลางปัจจัยลบที่รัฐบาลยังต้องหาทางบริหารจัดการให้ดี พร้อมต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุน และค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคทั้งภาคบุคคล และเอกชน โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ยังเป็นเรื่องใหญ่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ ตามราคาพลังงานโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่จะสูงขึ้นอีก

กนง.ประเมินด้วยว่า แม้สภาพคล่องในระบบการเงิน จะอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างไปแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ บางกลุ่มยังเปราะบาง รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ อาจเป็นแรงกดดันสำคัญ ที่รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ปัญหาลดปัจจัยลบลงให้ได้มากที่สุด นั่นเพราะย่อมมีผลต่อเป้าหมายการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ