สิทธิสำรวจปิโตรฯ อ่าวไทย รากฐานมั่นคงพลังงานประเทศ

สิทธิสำรวจปิโตรฯ อ่าวไทย รากฐานมั่นคงพลังงานประเทศ

สถานการณ์ราคาพลังงานยังตรึงเครียดอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนตัวลง ปัจจัยต่างๆยังรุมเร้าซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอกทั้งหมดดังนั้น การพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานจะลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในได้ 

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่แหล่งผลิตพลังงานใหญ่แต่ก็มีแหล่งพลังงานที่รอการสำรวจ หลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดให้ทำการสำรวจมานานถึง 15 ปี ล่าสุด สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565

ประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 บริเวณทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบบปันผลผลิต (PSC) นั่นคือ หากรัฐมีความมั่นใจว่าจะมีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์สูงกว่า38% จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีข้อมูลการสำรวจค่อนข้างมาก ขนาดของแหล่งปิโตรเลียมตามความต้องการ และมีความเสี่ยงต่ำกว่า อีกทั้ง ภาครัฐเองก็จะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงานและงบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา

สิทธิสำรวจปิโตรฯ อ่าวไทย รากฐานมั่นคงพลังงานประเทศ สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อขอเข้าใช้ห้อง Data room ในการเข้าศึกษาข้อมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอการยื่นของสิทธิ แล้วคาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ได้รับสิทธิได้ภายในปี 2565 และจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท สามารถต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท หากมีการสำรวจพบปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท

เนื่องจากทั้ง 3 แปลงอยู่บริเวณทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซที่มีอยู่เดิม และอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลัก ที่ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่การเปิดให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในประเทศหยุดชะงักมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว

“ภายหลังจากที่กรมฯ เปิดห้อง Data room ให้บริษัทต่างๆ เข้าศึกษาข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอการยื่นของสิทธิ ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อพิจารณาคัดเลือกแล้ว จะมีการนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ หาก ครม.อนุมัติ กรมฯ ก็จะประกาศผลผู้ชนะ และได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไป”

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ตามมานั้นจะไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย รวมถึงการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงภาคขนส่งอีกด้วย นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งจากการเปิดให้ยื่นขอสิทธิในครั้งนี้ ประเทศจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการยื่นขอสิทธิในครั้งนี้ ตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเปิดเผย และโปร่งใส โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นการนำทรัพยากรของประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนไทยได้มีปิโตรเลียมจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืนและยังเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ 

โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการดักจับก๊าซคาร์บอนจากการประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บคาร์บอนอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการปล่อยในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดได้