สิ้นสุดสัมปทาน “เชฟรอน” 44 ปี ส่งต่อ “ปตท.สผ.” ผลิตแหล่ง “เอราวัณ”

สิ้นสุดสัมปทาน “เชฟรอน” 44 ปี ส่งต่อ “ปตท.สผ.” ผลิตแหล่ง “เอราวัณ”

แหล่งปิโตรเลียมประวัติศาสตร์ของชาติไทยผลิตมานานถึง 44 โดยกลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณ และเป็นนักลงทุนสัญชาติอเมริกัน ดำเนินการผ่าน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

"เชฟรอน" ใช้เวลาในการแสวงหาก๊าซฯ ราว 5 ปี ก่อนจะลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฉบับแรกในปี 2521 (รวม 44ปี) และตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เอราวัณ” ซึ่งเป็นช้างสามเศียรอันเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ 

พร้อมกับถือฤกษ์เปิดวาล์วส่งท่อก๊าซธรรมชาติ วันที่ 12 กันยายน 2524 และเริ่มขายก๊าซธรรมเชิงพาณิชย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2524 ด้วยปริมาณ 35 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ด้วยการวางท่อก๊าซธรรมชาติใต้น้ำยาว 425 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลกขณะนั้น เพื่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณเข้าสู่โรงแยกก๊าซที่จังหวัดระยอง

อีกทั้ง ยังเกิดการลงทุนมากมาย เช่น การใช้เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า การตั้งโรงแยกก๊าซฯ การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทั้งนี้ แหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ประกอบด้วย "เอราวัณ-บงกช" จะหมดอายุสัมปทานลงวันที่ 23 เม.ย. 2565 โดยรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯ นี้ อย่างใกล้ชิด และแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน

โดยรัฐบาลได้ไปเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 และ G2/61 (เอราวัณและแปลงบงกช) เมื่อวันที่ 13ธ.ค.2561 ซึ่ง เชฟรอน และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอ ปรากฏว่า ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในระบบ PSC ต่อจากเชฟรอนในวันที่ 24 เม.ย. 2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562 เชฟรอนได้ทำสัญญากำลังการผลิตอยู่ที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมกับลดสัดส่วนกำลังการผลิตลงเป็นแบบขั้นบันไดและลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน 2 ปี จนมาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้อัตราการผลิตในปัจจุบันต่ำมากจนปริมาณแก๊สฯ อยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยที่จะผลิตต่อที่เรียกว่าทำให้เกิดช่องว่าง หรือ ชอตฟลอร์ในบางแท่น

จากการปรับลดกำลังผลิตของเชฟรอนถือว่าน้อยกว่าข้อกำหนดที่ต้องลดกำลังการผลิตมาอยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมใดๆ ส่งผลให้ ปตท.สผ.จะต้องเร่งการเพิ่มกำลังการผลิตไปที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา ในทันที่คงเป็นไปไม่ได้เพราะจะเกิดความไม่ปลอดภัยในหลายด้าน 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. จะทุ่มงบลงทุนเบื้องต้น 700 ล้านดอลลาร์ ดันกำลังผลิตช่วงแรกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะใช้วิธีเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ และแหล่งบงกช รวมถึงเพิ่มกำลังผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย เพื่อดันยอดทดแทนให้ถึง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงแรก

การที่ปตท.สผ. ได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณช่วงเดือนมกราคม 2565 แต่การจะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต้องใช้เวลราว 2 ปี ในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม จึงจะสามารถผลิตก๊าซฯ ได้ครบจากทั้ง 8 แท่น เอราวัณขึ้นถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่เพื่อส่งมอบแหล่งเอราวัณอย่างปลอดภัยในเดือนเม.ย. 2565 โดยที่ผ่านมาบุคลากรของเราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ กลุ่มปตท.สผ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อเตรียมการส่งมอบการดำเนินงานของแหล่งเอราวัณ ในการดำเนินงานส่งมอบที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เม.ย. 2565

“เอราวัณ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของเชฟรอนที่ได้สร้างและดำเนินงานแหล่งเอราวัณมากว่า 40 ปี ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรชาวไทยและวางรากฐานอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้” นายชาทิตย์ กล่าว