สำรวจราคาหน้าโรงกลั่น "พลังงาน" ชี้กำไร 2 บาทต่อลิตร เหมาะสม

สำรวจราคาหน้าโรงกลั่น "พลังงาน" ชี้กำไร 2 บาทต่อลิตร เหมาะสม

สำรวจราคาหน้าโรงกลั่น "พลังงาน" ชี้กำไร 2 บาทต่อลิตร เหมาะสม “สนพ.” ชี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทั้งปีอยู่ในระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เร่งสำรวจราคาหน้าโรงกลั่น หลังได้รับข้อมูลต้นทุนค่าการกลั่นพุ่ง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์น้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย ล่าสุดอยู่ระดับ 5 บาทต่อบาร์เรลในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 จากค่าเฉลี่ยอ้างอิงระดับกว่า 2 บาทต่อบาร์เรล ดังนั้น สนพ.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในคณะอนุกรรมการที่ดูราคาการกลั่น ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมเรียกกลุ่มโรงกลั่นมาหารือถึงต้นทุน โดยจะต้องมีความชัดเจนภายในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขราคาค่าการกลั่นแม้กระทั้งกำไรตามกระแสข่าวที่ออกมาในระดับ 5 บาท ถือว่าสูง แต่ต้องดูว่าต้นทุนแท้จริงในการซื้อน้ำมันดิบ แหล่งซื้อ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อคำนวณแล้วออกมาแท้จริงแล้วได้เท่าไหร่ มีราคาที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะกลุ่มโรงกลั่นอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันในภาวะปัจจุบัน กระทรวงพลังงานจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากค่าการกลั่นลดลงราคาน้ำมันก็จะลดลงเช่นกัน

“ส่วนตัวมองว่ากำไรระดับ 2-3 บาท น่าจะเหมาะสม การจะให้โรงกลั่นลดราคาหน้าโรงกลั่นคงทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ เนื่องจากตัวเลขที่กระทรวงพลังงานทำเป็นตัวเลขจากการคำนวณคาดการณ์ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งการปล่อยให้กลุ่มโรงกลั่นทำการค้าเสรีก็เป็นเรื่องของการแข่งขัน ดังนั้น หากได้ตัวเลขต้นทุน กำไรที่แท้จริงแล้วพบว่ากลุ่มโรงกลั่นมีกำไรมากจนเกินไปก็อาจจะเป็นในเรื่องขอความร่วมมือในช่วงราคาพลังงานสูง”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังจากนี้คาดว่าอาจไม่พุ่งแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา โดยช่วงที่เหลือของปี 2565 คาดอยู่ระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะขณะนี้กลุ่มประเทศยุโรป (อียู) ผู้ใช้พลังงานจากรัสเซียเริ่มมีการปรับตัว โดยหันไปใช้แหล่งพลังงานอื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะปล่อยเชลก๊าซ (ก๊าซในชั้นหินดินดาน) ป้อนตลาด เพราะราคาจูงใจ แม้จะมีปัญหาเรื่องคาร์บอนอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคงมีการอนุโลม

สำหรับความต้องการใช้พลังงานไทยปี 2565 คาดว่าจะเติบระดับ 2.1% ภายใต้สมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) โต 2.5-3.5% อัตราแลกเปลี่ยน 33.3-34.3 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 105-110 ดอลลาร์ และจีดีพีโลก 3.5% ขณะที่การใช้พลังงานขั้นต้นรายชนิดพบว่าเติบโตเกือบทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลง 9.5% จากราคาที่ปรับสูงมากจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนผู้ใช้หันไปพึ่งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทน ขณะที่น้ำมันคาดเพิ่มขึ้น 12.9% ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 6.8% และไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า 8.2%

"ภาพรวมยอดใช้พลังงานเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกและการเปิดประเทศ แต่การระบาดของโควิด-19 และผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจส่งผลต่อการใช้พลังงานของไทยได้" นายวัฒนพงษ์ กล่าว