เลี้ยง 'ปลาไหลนา' สร้างรายได้เดือนละหมื่น

อดีตครูชาวจังหวัดขอนแก่น วัย 34 ปี หันมาทำฟาร์มอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปลาไหลนา จำหน่าย สร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานสำหรับผู้ที่สนใจ

นายมนัสศักดิ์ จันประดับ หรือ ครูนัท อายุ 34 ปี พาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมปลาไหลนาที่เพาะเลี้ยงไว้ภายในบ่อดิน ภายในฟาร์มบ้านบึงแก ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยใช้พื้นที่ 3 ไร่ ในการเพาะเลี้ยงปลาไหลนาและปูนา โดยเฉพาะปลาไหลนาจะมีการเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ

ครูนัท เล่าว่า เมื่อก่อนตนเองเคยเป็นครูสอนอาชีวะศึกษา 6 ปี และสอนสายสามัญ 4 ปี จากนั้นมีความสนใจด้านการเกษตร จึงตัดสินใจลาออกจากงานเมื่อปี 2563 ก่อนที่จะเริ่มสนใจการเพาะเลี้ยงปลาไหลนาขาย เนื่องจากปลาไหลนาเป็นที่นิยมรับประทานของคนอีสาน โดยมีเมนูที่นิยม ได้แก่ ต้มปลาไหลหรือเรียกต้มเปรต และผัดเผ็ดปลาไหล เป็นต้น โดยได้ศึกษาจากอาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากนั้นก็นำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง จึงได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2560 โดยใช้พื้นที่ของตนเอง ทดลองเพาะพันธุ์ปลาไหลนาพร้อม ๆ กับปูนา โดยได้ผลเป็นอย่างดี สามารถเพาะพันธุ์ปลาไหลนาได้ดี โดยเฉพาะปลาไหลในบ่อดิน ซึ่งรูปแบบที่ตนเองเลี้ยงนั้นจะลี้ยงแบบรายปี เหมือนการปลูกอ้อย เพราะปลาไหลจะเริ่มจับได้เมื่อมีอายุ 8 เดือนขึ้นไป ส่วนรายได้ในแต่ละเดือนจะมีมากกว่า 10,000 บาท

ครูนัท ยังเปิดเผยขั้นตอนและวิธีการเพาะเลี้ยงปลาไหลด้วยว่า ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลาไหล จะเริ่มจากการหาหวอด หรือ รังของปลาไหลที่ได้มีการผสมพันธุ์แล้ว จากนั้นก็นำหวอดซึ่งภายในจะมีลูกปลาไหลอยู่ ก่อนจะไปเพาะและเลี้ยงด้วยหัวอาหารปลาไหล อีกประมาณ 3 – 4 เดือน เมื่อลูกปลาไหลเริ่มโตก็จะนำมาปล่อยไว้ภายในบ่อดิน กระชังบก วงบ่อ และปลาไหลหลุม ซึ่งปลาไหลนาที่จะจับขายได้จะมีอายุอย่างน้อย 8 เดือนขึ้น ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 350 – 400 บาท จากความสำเร็จ ตนเองยังได้นำความรู้ไปอบรมถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่สนใจได้ศึกษาและนำไปใช้ โดยมีการตั้งกลุ่มเพจเฟซบุ๊คชื่อ “เลี้ยงปลาไหลนาสามัคคี” และกลุ่ม ”สอนเทคนิคเลี้ยงปูนาบ่อดินขอนแก่นครูนัท” ทั้งนี้ การเพาะพันธุ์ปลาไหลนายังคงประสบปัญหาในเรื่องของปริมาณลูกปลา เพราะในเชิงพาณิชย์ความต้องการตลาดยังสูง แต่การเพาะพันธุ์ปลาไหลนายังไม่พอต่อความต้องการของตลาด เพราะการเพาะพันธุ์พันธุ์ปลาไหลนาจะต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ และความเข้าใจในตัวเกษตรกรยังคงน้อยอยู่ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ตามเพจดังกล่าว หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่เบอร์โทร 093-4418964