ธ.ก.ส.ลุยอัดสินเชื่อเสริมแกร่งเกษตรกร

ระยอง หนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพของประเทศ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทุเรียน ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีราคาสูง ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ

ทุเรียนสด ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย ปี 2564 ส่งออกได้กว่า 109,205 ล้านบาท ส่งออกไปจีนสัดส่วน 90% มูลค่า 104,400 ล้านบาท จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2562 การส่งออกผลไม้ไทยยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะจีนที่อยู่ในระดับสูงทั้งทุเรียน ลำไย และมังคุด ผลไม้ส่งออกที่สำคัญคือ ทุเรียน “ราชาแห่งผลไม้” ปี 2564 อัตราการขยายตัวของการส่งออกสูง 68% รองลงมาได้แก่ ลำไย และมังคุด

เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละ จังหวัดระยอง นิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรรุ่นลูกที่กลับมาทำการเกษตร นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการภายในสวน ด้วยการนำแนวคิดสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนสวนทุเรียนที่รับสืบทอดจาก ‘ลุงแกละ’ ซึ่งแต่เดิมทำการเกษตรในแปลงแบบผสมผสาน ทุเรียน เงาะ ลองกอง ขนุน และยางพารา บนพื้นที่ 60 ไร่ ปัจจุบันมีผลผลิตทุเรียน 70-80 ตัน/ปี โดยนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในแปลงทำได้สะดวกขึ้น ใช้แอปพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศที่มีฟังก์ชั่นตรวจสภาพพื้นดิน และกำหนดเป้าหมายในการทำให้ทุเรียนออกผลผลิต นอกฤดูกาล ซึ่งมีราคาสูงกว่าผลผลิตตามฤดูกาล

ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 จังหวัดระยอง ประกอบด้วยสมาชิกแปลงใหญ่ 36 ราย เนื้อที่รวม 600 ไร่ เริ่มเข้าร่วมมาทำแปลงใหญ่ 2 ปีที่ผ่านมา แต่เจอปัญหาโควิด-19 จึงยังไม่ได้กู้เงินกับ ธ.ก.ส.และมีแผนกู้เงินสินเชื่อ ธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องพ่นหมอกและรถแทรกเตอร์ตัดหญ้าใหญ่ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรผ่านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ได้มีการพัฒนาตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสวนของตนเอง จนทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนถึงระดับที่สามรถขยายพื้นที่การผลิตให้มากขึ้น โดยเฉลี่ยมีพื้นที่การผลิตทุเรียนรายละ 20-50 ไร่ มีรายได้จากการขายผลผลิตเฉลี่ยปีละ 1-5 ล้านบาท

ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. พงษ์พันธ์ จงรักษ์ ระบุ  ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและจัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกัน  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งการผลิต การแปรรูป การรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย โดยสนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าลงทุน วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยทั้งโครงการ 3.01% ต่อปี

โดยกลุ่มเกษตรกรฯจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี หรือล้านละร้อย รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร 2.875% ต่อปี  และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยเอง 0.125% ต่อปี  ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่วันกู้ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2575 ล่าสุดได้ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเกษตรกรฯ ไปแล้วกว่า 400 กลุ่ม เป็นเงิน 5 พันล้านบาท

 

สำหรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ที่รวมตัวกันตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป และมีพื้นที่การผลิต ทั้งประเภทพืชไร่ ยางพารา ข้าว ปาล์ม ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก ประมงและปศุสัตว์ รวมกันตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้กับผู้ประกอบการและ Smart Farmer อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี รวมถึงสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 4% ต่อปี สินเชื่อเสริมแกร่ง SMEs เกษตร เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น วงเงินไม่เกินรายละ 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% ต่อปี 
 
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน