เปิดทีโออาร์ สายสีส้ม “เข้มสเปก” ซองเทคนิค BTS-BEM พร้อมสู้ศึกประมูล

เปิดทีโออาร์ สายสีส้ม “เข้มสเปก” ซองเทคนิค BTS-BEM พร้อมสู้ศึกประมูล

รฟม.ตั้งโจทย์หินคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม หวังคัดฝีมืองานโยธาคุณภาพสูง เหตุแนวเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญ เข้มเกณฑ์คะแนนเทคนิค 90% จึงจะมีสิทธิเปิดซองราคา เปิดช่องชี้ขาดขั้นสุดท้ายด้วยเทคนิค เริ่มขายซอง 27 พ.ค.นี้ บีทีเอส-บีอีเอ็ม พร้อมลงสนามเปิดศึกชิง

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน145,265 ล้านบาท ในลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ครั้งที่ 2 เริ่มต้นแล้วหลังจากก่อนหน้านี้ มีการยกเลิกการประมูลไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ลงนามประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยขายซองเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) วันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.2565 และรับซองข้อเสนอวันที่ 27 ก.ค.2565 เปิดซองข้อเสนอวันที่ 1 ส.ค.2565 เพื่อลงนามสัญญาร่วมลงทุนปลายปี 2565

สำหรับโครงการร่วมลงทุนดังกล่าว รฟม.ลงทุนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงจัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost)

ขณะที่ระยะเวลาการร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 

1.การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการส่วนตะวันออก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และส่วนที่ 2 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการ ส่วนตะวันตก ระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี

2.การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ส่วนข้อกำหนดด้านคุณสมบัติทั่วไป กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลไทยจดทะเบียนในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันต้องมีนิติบุคคลไทยร่วมอย่างน้อย 1 ราย ที่มีสัดส่วนถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35% และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคลต้องมีนิติบุคคลไทยเป็นสมาชิกภายในกลุ่มอย่างน้อย 1 ราย ที่มีสัดส่วนถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35% ของทั้งหมด และมีสัดส่วนนิติบุคคลไทยรวมไม่น้อยกว่า 51%

ต้องเคยสร้างอุโมงค์ใต้ดิน

ด้านคุณสมบัติเทคนิค กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท อย่างน้อย 1 โครงการ โดยมูลค่าของผลงานแต่ละประเภทในสัญญาเดียวจะต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภทที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องนำเสนอ ประกอบด้วย ก.งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ ข.งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน และ ค.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง

ทั้งนี้กรณีผู้ยื่นข้อเสนอขาดประสบการณ์บริการจัดหารก่อสร้างงานโยธาตามที่กำหนดไว้ ผู้ยื่นข้อเสนอนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับจ้าง (Contractor) มายื่นข้อเสนอได้ โดยผู้รับจ้างต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียวหรือเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทบถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า โดยให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายใน 25 ปี และดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างน้อย 1 โครงการ

เข้มคุณสมบัติเทคนิคมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ข้อกำหนดใน RFP ครั้งนี้ รฟม.ปรับเปลี่ยนจากการประกวดราคาครั้งก่อน โดยระบุชัดเจนในส่วนคุณสมบัติด้านเทคนิคที่ต้องการ และยอมรับว่าเป็นข้อกำหนดที่เข้มข้นขึ้น เพราะเนื่องด้วยโครงการนี้มีแนวเส้นทางผ่านจุดสำคัญของประเทศ เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นจำเป็นอย่างมากในการคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์งานเทคนิคสูง

“รฟม.เรากลับมาใช้เกณฑ์พิจารณาที่ใช้คัดเลือกเอกชนในหลายโครงการ คือ การพิจารณาผู้ผ่านเกณฑ์ไปทีละซอง แต่มาเข้มงวดในซองด้านเทคนิคที่ต้องมีข้อเสนอดีที่สุด มีงานเทคนิคเป็นไปตามที่ รฟม.ต้องการ เพราะไม่ใช่การแข่งขันด้วยราคา แต่เพราะโครงการนี้ต้องคัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติงานเทคนิคจริงๆ และเกณฑ์นี้ก็ใช้ประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่ผ่านมา”

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสิน รฟม.กำหนดข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ รฟม.โดยกำหนดผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์ รวมถึงการให้คะแนนข้อเสนอด้วย แบ่งเป็น

ข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ประเมินแบบผ่านหรือไม่ผ่าน กรณีไม่ผ่านจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2-3 พร้อมส่งซองข้อเสนอคืน

ข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ประเมินแบบคะแนนคิดเป็นร้อยละ คะแนนเต็ม 100% แบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

1.โครงสร้างองค์กร บุคลากรและแผนการดำเนินงาน 10%

2.แนวทางวิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา 50%

3.แนวทางวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า 10%

4.แนวทาง วิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา 30%

ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้คะแนนแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 85% และได้คะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่า 90% ของคะแนนรวมทั้งหมด จึงจะผ่านเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้รับพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ

เปิดช่องชี้ขาดด้วยเทคนิค

ข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะประเมินแผนธุรกิจ แผนการเงิน การระดมทุน การใช้จ่ายและแผนบริหารความเสี่ยง ผลตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม. และหรือจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาส่วนตะวันตกที่ขอรับจาก รฟม. โดยหากข้อเสนอซองที่ 3 มีความน่าเชื่อถือ และมี NPV ของผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม.หักด้วยเงินสนับสนุนที่จะขอรับจาก รฟม.) สูงที่สุด จะเป็นผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด

ในกรณีถ้ามีผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอ NPV ของผลประโยชน์สุทธิสูงเท่ากัน รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะนำผลคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 มาเปรียบเทียบจัดลำดับหาผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด และกรณีผู้ผ่านการประเมินสูงสุดไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหรือไม่ยอมทำสัญญากับ รฟม.ในเวลาที่กำหนดจะเจรจาผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินในลำดับรองลงมา

ประมูลรอบแรกค้าง3คดี

อย่างไรก็ดี การประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนดังกล่าว ถือเป็นการเริ่มต้นขั้นตอนพีพีพีรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รฟม.ยกเลิกการประกวดราคาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เพราะผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่งยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง กรณี รฟม.ปรับใช้หลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอ และท้ายที่สุด 9 ก.พ.2565 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง และชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับเอกชนทำให้ รฟม.เริ่มขั้นตอนประมูลใหม่

อีกทั้งโครงการนี้มีข้อพิพาท 3 คดี คือ 1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม 2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา 3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“บีทีเอส-บีอีเอ็ม”ร่วมชิง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า การประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นั้นบริษัทจะเข้ายื่นซองเสนอราคาหรือไม่นั้น เบื้องต้นคงต้องดูรายละเอียดเอกสาร RFP ก่อน

“รถไฟฟ้าสายสีส้มเราก็จะเข้าร่วมอยู่แล้ว แต่คงต้องรอดูร่าง RFP ก่อนว่าเป็นอย่างไร และจะเข้าร่วมกับพันธมิตรกลุ่มเดิมหรือไม่ ก็คงต้องรอดูก่อนว่า RFP กำหนดอย่างไร และต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบของเอกสารการประมูลว่ามีความโปร่งใส ยุติธรรมในการประมูลหรือไม่”

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทฯ พร้อมเข้าร่วมประมูลและแข่งขันในทุกกติกาที่ภาครัฐประกาศออกมา เพราะเชื่อมั่นใจคุณสมบัติและขีดความสามารถ โดยในภาพรวมงานก่อสร้างทางบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ดูแล