“กอบศักดิ์”ชี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายอีก3ปี

“กอบศักดิ์”ชี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายอีก3ปี

“กอปศักดิ์”ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นอุโมงค์ท้าทายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แนะสร้างความยั่งยืนการคลัง เลิก”คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน” ลดเสี่ยงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกสู่ประเทศเกิดใหม่ เชื่อสงครามยูเครนยืดเยื้อ ราคาพลังงาน-อาหารพุ่งกระทบเงินเฟ้อดอกเบี้ยขยับ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และ เลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อเศรษฐกิจ โอกาส และ ความท้าทายใหม่ ในงานสัมมนาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวดี คือ หลังจากที่เราเผชิญวิกฤตโควิดเป็นเวลาเกือบ 2 ปีกว่า ซึ่งท้ายที่สุด เราก็ใกล้ออกจากอุโมงค์แล้ว โดยทุกดัชนีชี้ว่า เรากำลังจะผ่านปัญหานี้ไป ซึ่งรวมถึงตัวเลขการฉีดวัคซีนบวกกับยอดการติดเชื้อโควิดของคนทั่วโลกที่มีถึง 6-7 พันล้านคน แสดงว่า คนมีภูมิคุ้มกันโควิดจำนวนมาก ขณะที่ ตัวเลขการเสียชีวิตก็อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่า โควิดกำลังจะจากเราไปหรืออยู่ร่วมกับโควิดได้

สำหรับข่าวร้าย คือ เรากำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจจาก 2 ปี ของความซบเซา เป็นกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ที่เป็นความท้าทาย ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของความผันผวน ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลา 2 ปีกว่าจะฟื้นตัว แต่ครั้งนี้ เราจะออกจากวิกฤตอุโมงค์หนึ่งเข้าไปสู่ความท้าทายอีกอุโมงค์หนึ่ง และเมื่อเราฟันฝ่าช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้ เราจะก้าวเข้าสู่ Next chapter ที่แท้จริง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ Next chapter จะต้องตอบคำถามที่สำคัญ คือ เราจะเตรียมตัวรับความผันผวนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอย่างไร ซึ่งมีอยู่ 7 เรื่อง โดย 3 เรื่องแรก เป็นผลพวงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งตนมองว่า จะรุนแรงขึ้นทุกวัน 2.วิกฤตราคาพลังงาน 3.วิกฤตอาหารโลก

เรื่องที่ 4.ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก 5.Recesstion ในสหรัฐและประเทศต่างๆ 6.โอกาสเกิดวิกฤตในประเทศเกิดใหม่ ขณะนี้ เริ่มเห็นในบางประเทศ คือ ศรีลังกา ซึ่งเรื่องที่ 4-6 นี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ต้องจัดการปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจให้ซอฟแลนดิ้ง ส่วนเรื่องที่ 7 คือ ปัญหาในเศรษฐกิจจีนที่กำลังเกิดปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เขามองว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะไม่จบลงง่ายๆ และแม้จะจบลง แต่การแซงชั่นของนาโตในรัสเซียจะไม่จบลง เพื่อบอนไซเศรษฐกิจรัสเซีย เมื่อรัสเซียไม่มีเงิน ก็จะไม่มีกองทัพยุทโธปกรณ์ เมื่อการแซงชั่นไม่จบก็หมายความว่า ราคาพลังงานที่เราคาดจะลงก็อาจจะไม่ลงมาอาจจะค้างเติ่งอย่างน้อย 2 ปี ฉะนั้น กระบวนการปรับตัวของทุกคนจะไม่ใช่เรื่องง่าย

“เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนราคาพลังงานก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะคนที่ทำให้ราคาพลังงานค้างอยู่ข้างบนเป็นจากความขัดแย้งดังกล่าว นอกจากนี้ ยังกระทบต่อราคาอาหาร โดยที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าครึ่ง และ นำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ นี่คือสิ่งที่น่ากังวลใจที่จะนำไปสู่การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย และที่เห็นดอกเบี้ยขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะสิ่งที่เฟดไม่ได้บอก คือ ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี หมายความว่า สงครามระหว่างเฟดกับเงินเฟ้อจะเกิดขึ้น”

เขากล่าวว่า เมื่อเฟดใช้นโยบายดอกเบี้ยสู้กับเงินเฟ้อ ประเทศเกิดใหม่จะต้องปรับตัว แม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นความปั่นป่วนตลาดการเงินโลก ที่ผ่านมา เฟดอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไประบบมากเพราะหวังว่าจะช่วยเศรษฐกิจในช่วงโควิดให้ได้ แต่ปรากฏว่า โควิดไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาถล่มทลายอย่างที่คิด แต่สภาพคล่องถูกใช้ไปหมดแล้ว กำลังเป็นต้นตอของฟองสบู่ที่เฟดต้องมาเก็บกวาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ

“ถ้าขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆผมถามว่า ตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น ในระยะจากนี้ เศรษฐกิจจะเป็นช่วงที่เรียกว่า อากาศแปรปรวน ขอให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดให้ดี เพราะเป็นช่วงที่ท้าทายที่สุด”

เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เฟดขึ้นดอกเบี้ย 12 ครั้ง เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ  แต่ช่วยซอฟแลนดิ้งได้ 3 ครั้ง หมายความว่า เฟดมีโอกาส 70% ที่จะพลาดปัญหา คือ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เงินเฟ้อไม่ยอมลง ขณะที่ ปัญหารัสเซียกับยูเครนไม่จบลงง่าย ทั้งหมดนี้จะนี้จะหมายความว่าอย่างไรกับการบริหารจัดการ นี่คือโอกาสจะเกิด Recesstion หมายความว่า ใน 3 ปีข้างหน้าอาจมีหลากหลายอย่างเกิดขึ้นและกระทบต่อประเทศเกิดใหม่

ส่วนกรณีของเศรษฐกิจจีนนั้น ก็น่ากังวล เพราะมีปัญหาอยู่ก่อนหน้า และขณะนี้ มีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจชะลอตัวแถมซ้ำเติมด้วยการปิดเมือง เป็นฟองสบู่ที่ไม่เคยแตกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ทั้งหมดนี้หมายความว่า 2-3 ปีข้างหน้าจะไม่ง่าย ฉะนั้น ต้องเตรียมรับมือ ส่งออกอย่าไปคาดหวังมาก ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนใหม่ พลิกฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมา

“ถ้าเราจะมีปัญหาเรื่องประเทศเกิดใหม่ เราต้องจัดการเรื่องการคลัง บอกตรงๆคนละครึ่งไม่จำเป็นแล้ว เราแจกไปเยอะแล้ว ต้องคิดใหม่ให้ภาคการคลังสมดุลเร็วกว่านี้ ไทยเที่ยวไทยก็ไม่ต้องแล้ว ที่สำคัญ คือ โปรโมทต่างชาติเที่ยวไทย และทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น เงินสำรองอาจจะลดแต่ไปได้ ดูแลสถาบันการเงินให้เข้มแข็ง ถ้าทำให้ทั้งหมดนี้ดูดี เราจะผ่านไปได้”