เครื่องมือดูแล "น้ำมัน" ที่มากกว่าการลดภาษี

เครื่องมือดูแล "น้ำมัน" ที่มากกว่าการลดภาษี

รู้หรือไม่? ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 76,291 ล้านบาท หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนได้ 3 เดือน เทียบกับก่อนเกิดสงคราม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเพียง 21,838 ล้านบาทเท่านั้น ปัญหานี้ควรแก้อย่างไร?

สถานการณ์สงครามระหว่าง "รัสเซียและยูเครน" ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 หลังจากรัสเซียบุกเข้าไปบริเวณชายแดนภาคตะวันออกของยูเครน และจากนั้นก็บุกขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อ "ราคาน้ำมันดิบ" ในตลาดโลกสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 120-130 ดอลลาร์ ในบางช่วง

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงประเทศไทยที่เงินเฟ้อในบางเดือนของปี พ.ศ. 2565 สูงสุดในรอบ 14 ปี ท่ามกลางการเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลผลกระทบด้านพลังงานมากขึ้น 

"กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง" ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลราคาน้ำมันมาตลอด นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2520 โดยมีพัฒนาการของกองทุนและการปรับเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายที่รองรับกองทุนมาตลอด ไปจนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 

 

แต่ทั้งหมดใช้หลักการเดียวกัน คือ การส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้เงินจากกองทุนเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในปัจจุบันรวมถึงก๊าซหุงต้ม

ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค. 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 76,291 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 41,419 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 34,872 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับวันที่ 27 ก.พ. 2565 หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนได้ 3 วัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเพียง 21,838 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันบวก 4,988 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 26,826 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาเกือบ 3 เดือน ของสงครามครั้งนี้ทำให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงติดลบเพิ่มขึ้นถึง 54,453 ล้านบาท

 

การใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้ดูแลเฉพาะ "ดีเซล" ที่บางช่วงต้องอุดหนุนสูงเกินลิตรละ 10 บาท ขณะที่ "เบนซิน" ถูกเก็บเงินเข้ากองทุน โดยที่ผ่านมามีข้อเสนอให้ลดการเติมไบโอดีเซล หรือ B100 ในดีเซล เพราะราคาไบโอดีเซลในปัจจุบันสูงถึงลิตรละ 54.76 บาท และมีส่วนทำให้ราคาขายปลีกในปัจจุบัน "ต่ำกว่า" ราคาหน้าโรงกลั่น จากการใช้เครื่องมือการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล และการอุดหนุนจาก "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ราคาหน้าโรงกลั่นในปัจจุบันลิตรละ 32.6165 บาท แต่ขายปลีกลิตรละ 31.94 บาท

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเกี่ยวข้องกับรายได้ของธุรกิจน้ำมัน แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีแนวโน้มติดลบถึง 100,000 ล้านบาท

มีความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานควรเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันให้ได้ข้อสรุป รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันบางส่วนเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ที่ควรมีส่วนร่วมในการรับมือกับวิกฤติพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งการลดผสมไบโอดีเซลและการปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นจะมีผู้เสียประโยชน์ แต่การมองผลประโยชน์เฉพาะตัวในสถานการณ์วิกฤติเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ