แบงก์ลุ้น “ล็อก” หนี้ NPA เปิดทางกำไรโตต่อเนื่อง

แบงก์ลุ้น   “ล็อก” หนี้ NPA  เปิดทางกำไรโตต่อเนื่อง

สถานการณ์หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมามีปัจจัยบวกอีกครั้งหลังจากทยอยประกาศกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 ออกมาแล้วดีกว่าคาดและยังได้ผลดีจากการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2565

           การช่วยเหลือกลุ่มธนาคารยังมีการเปิดกว้างให้จัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน (JV) ในการประกอบธุรกิจบริหารหนี้ หรือ AMC จากในอดีตไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการจนต้องมีการนำหนี้เสียมาประมูลขายให้ออกไป

          ล่าสุดธปท. ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์อสังหาริมทรัพย์รอการขาย (NPA) ของสถาบันการเงิน ระหว่างวันที่ 18 พ.ค.-1 มิ.ย. 2565 นี้  เพื่อขยายระยะเวลาขาย  NPA ให้กับธนาคารพาณิชย์อีก 2 ปี ตั้งแต่  1 ม.ค.2565 – 31 ธ.ค.2566 โดยไม่ต้องกันสำรองเพิ่มเติม

ประเด็นดังกล่าวส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารชัดเจน NPA หรือ Non-Performing Asset  คือ ทรัพย์สินรอการขาย หรือ ทรัพย์สินพร้อมขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งปลูกสร้าง บ้าน อาคาร ที่อยู่อาศัย สำนักงานรวมไปถึงโรงแรม

        ส่วนใหญ่จะมีการขายทอดตลาดทรัพย์ หลังลูกหนี้นำมาเป็นหลักประกันการกู้เงินและหลุดจำนอง หรือทรัพย์ที่ธนาคารได้มาจากการตีมูลค่าทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระหนี้คืนธนาคาร  ซึ่งปัจจุบัน NPL Ratio หรือ อัตราส่วนหนี้เสียต่อ สินเชื่อรวม ในกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นตามสถานการณ์โควิดเจอผลกระทบรายได้ต่อเนื่อง    และยังเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ ของลูกหนี้ธนาคารว่า สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด

       จากไตรมาส 1 ปี 2565  NPL กลุ่มธนาคาร 4.00%    ถือว่าปรับตัวลดลงจาก ไตรมาส 4ปี 2564 ที่ 4.04% และไตรมาส 1ปี 2564 ที่ 4.28%  สอดคล้องกับรายธนาคารที่ประกาศ NPL ออกมาลดลงจากช่วง ไตรมาส 1 ปี 2565 ทุกธนาคาร หลังได้ผลดีตามมาตรการ ธปท.

        โดยยังหนุนกำไรของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 13% (YoY) และ 24%( QoQ) เป็น 4.43 หมื่นล้านบาท จากต้นทุน สินเชื่อที่ลดลงในไตรมาส 1/2565  ส่วนใหญ่มาจากจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง ด้านสินเชื่อมีการเติบโต  อัตราส่วน NPL ในขณะที่ต้นทุน สินเชื่อลดลงเป็นต้น  

        ขณะที่ภาพเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศรับนักท่องเทียวต่างชาติแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่  1 มิ.ย. จะส่งผลบวกต่อ การฟื้นตัวของภาคท่องเทียวไทยอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มที่เชื่อมโยงกับ ภาพเศรษฐกิจ คือ กลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์โดยตรง

     ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เราคาดว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะค่อยๆ เพิ่มรายได้ของครัวเรือนหลังจากที่ประสบกับปัญหาการว่างงานและรายได้ที่ตกต่ำ ทว่า NIM จะยังคงถูกกดดันจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังดำเนินอยู่

       อย่างไรก็ตามคาดว่าธนาคารต่างๆ จะรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง( YoY) จากต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ โดยสรุปแล้วไม่พบ NPL ที่เพิ่มขึ้น อย่างมาก เนื่องจากธนาคารสามารถกระจายความเสียหายจาก NPL ได้ ซึ่งสนับสนุนโดย นโยบายช่วยเหลือของ ธปท.

        ขณะที่ บล. โนมูระพัฒนสิน  มีมุมมอง Slightly Positive ต่อการรายงานสินเชื่อเดือน เม.ย. 2565  ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ขยายตัว +0.5%  (m-m)  หนุนจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก

        โดยธนาคารที่มีสินเชื่อขยายตัวมากสุดนำโดย  BBL +1.1% ( m-m) และ KKP +1.1%( m-m ) ตามด้วย SCB +0.8%  (mm ), TTB +0.4% (m-m), KBANK +0.3% (m-m) สำหรับ KTB รายงานสินเชื่อทรงตัว (m-m)  ส่วน ธนาคารที่รายงานสินเชื่อหดตัวคือ TISCO -0.4%  (m-m) โดยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม ธนาคารที่ BULLISH คง SCB (BUY, TP22F 155 บาท) และ KKP (BUY, TP22F 88 บาท) เป็ น Top pick ของกลุ่มธนาคาร