AIMC เดินหน้าหนุนคนไทยออมเงิน ผ่านกองทุน PVD สัดส่วน 50% ต่อจีดีพี

AIMC เดินหน้าหนุนคนไทยออมเงิน ผ่านกองทุน PVD สัดส่วน 50% ต่อจีดีพี

สมาคมบลจ. วางแผน 4 ปี ขยายฐานผู้ออมเงิน ผ่านกองทุน PVD มีมูลค่าถึง 50% ของจีดีพี  วางเป้าสร้างฐานเงินออมให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีรองรับการเกษียณ เร่งสร้างความเข้าใจกับเจ้าของธุรกิจ หวังนำร่องไปก่อน เหตุคาดการผลักดันจัดตั้งกองทุน กบช. อาจล่าช้า ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ 

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า  สมาคมฯ วางเป้าหมายในระยะ 4 ปีข้างหน้า มุ่งสร้างฐานเงินออมให้กับคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีรองรับการเกษียณอายุ (Financial well-being for Thais)  เพื่อเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของเศรษฐกิจไทย 

 วางเป้าหมายการผลักดันการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD ) ให้เติบโตมากขึ้น เป็นสัดส่วนตัวเลขสองหลักต่อจีดีพี เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันระดับการออมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และกระจุกตัวในวงจำกัด

รวมถึงการออมเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีสัดส่วนเพียง 8% ของจีดีพี และมีจำนวนผู้ออมเพียง 3 ล้านคน ถือว่ายังน้อยมาก เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ การออมในกองทุน PVD มีสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพี  

ทางสมาคมฯ จะเดินหน้าขยายจำนวนผู้ออมเงินในกองทุน PVD  ด้วยการเข้าไปทำความเข้าใจกับเจ้าของธุรกิจและนักธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซคเตอร์) ให้เห็นประโยชน์ของกองทุน PVD เพราะพบว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานในบริษัทที่มีกองทุน PVD เป็นสิ่งสำคัญในอนาคต  

พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)  อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง การจัดตั้งกองทุน กบช. เป็นการออมภาคบังคับที่มาช่วยตอบโจทย์ลูกจ้างภาคเอกชนที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีเงินออมก้อนหนึ่งไว้ใช้ยามเกษียณ  ซึ่ง กบช. อยู่ภายใต้กระทรวงการคลังที่จะต้องนำเสนอรัฐบาล  ซึ่งทางสมาคมฯ คงต้องมีการเข้าหารือร่วมกันต่อไป 

“เราคาดว่า การผลักดันกองทุน กบช. อาจไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ และหากเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งในแต่ละรัฐบาลจะมีมุมมองแตกต่างกัน รวมถึงยังมีอีกหลายกระบวนการในการจัดตั้ง  และเพื่อให้การจัดตั้งได้เร็ว อาจต้องมีการออกแบบใหม่เหมาะสมได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาคธุรกิจที่ฟื้นจากโควิด สามารถเจอกันคนละครึ่งทาง จัดตั้งกองทุน กบช.ให้เกิดได้ก่อน เป็นไปได้หรือไม่”  

นางชวินดา กล่าวว่า ขณะเดียวกันสมาคมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา เกี่ยวกับ ดิจิทัลแอทเสท  (Digital Assets) กำลังพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ควรจะออกมาในรูปแบบไหนที่เหมาะสม และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง  เพราะกองทุนสามารถช่วยดูแลเรื่องความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ 

"ปัจจุบัน digital มา ก.ล.ต.ให้มี platform โดยมีการปรึกษาหารือกันระหว่าง ก.ล.ต. และตัวแทนแต่ละภาคส่วน ควรจะดำเนินการในส่วนที่เป็น digital asset อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง"

มองว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ Fund Manager, Analysts, ไปจนถึง Advisory ให้มีทักษะที่เทียบเคียงได้กับสากล 

"ปัจจุบันในไทยยังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จำกัด และไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มีเงินลงทุนในระดับสูง มีความรู้ ความเข้าใจ ในการลงทุน และต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ Sophisticated มากขึ้น " 

นอกจากนี้  สมาคมฯ ยังมีเป้าหมายที่จะยกระดับบทบาทการทำหน้าที่ของกองทุนในฐานะนักลงทุนสถาบันให้มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลง  ,พัฒนาศักยภาพของบุคลากรของอุตสาหกรรมในทุกระดับ  ,ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดให้มีฐานข้อมูล และสมาคมฯ จะร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ในการจัดทำ regulatory guillotine เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ และกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย และสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รองรับความต้องการของนักลงทุนไทย  

    ทางสมาคมฯ จึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้กองทุนรวมเป็นช่องทางการออมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้ทุกระดับ และทุกช่วงวัย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมที่ครบถ้วนสำหรับการลงทุน พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนด้านดิจิทัล และผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการยกระดับบทบาทของอุตสาหกรรมในฐานะผู้ลงทุนสถาบันให้สนับสนุน และผลักดันการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์