Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 May 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 May 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังจีนประกาศแผนเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 105-118 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 108-120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 May 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23-27 พ.ค. 65) 

ราคาน้ำมันดิบคาดมีความผันผวน หลังจีนประกาศแผนเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป หลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ขณะที่ EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลง สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาดูแผนการคว่ำบาตรของยุโรปต่อการลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปแบบเป็นเอกฉันท์ได้ เนื่องจากยังขาดความเห็นชอบของบางประเทศสมาชิก 
 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-   สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนเป็นที่น่ากังวลน้อยลง หลังจากจีนประกาศจะกลับมาเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม จีนยังคงล็อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดในบางเขตไปจนถึงวันที่ 21 พ.ค. 65 ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหมือนที่มีการระบาดใหม่ๆช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 65

-    EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 พ.ค. 65 ปรับตัวลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มตึงตัว ขณะที่สหรัฐฯ รายงานน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) ณ สัปดาห์สิ้นสุด 13 พ.ค. 65 ปรับตัวลดลงกว่า 5.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 538 ล้านบาร์เรล หลังมีการปล่อยน้ำมันตามแผนจำนวน 3.9 ล้านบาร์เรลนั้นเป็นน้ำมันดิบกำมะถันสูง และอีก 1.1 ล้านบาร์เรลเป็นน้ำมันดิบกำมะถันต่ำ 
 

-  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของเดือนพ.ค. 65 เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แตะระดับที่ 10.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Vortexa คาดการณ์ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือนพ.ค. 65 ไปยังเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดคาดการณ์ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของอินเดียปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 430,000-480,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค. 65 และปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียเดือนพ.ค. 65 ไปยังตะวันออกกลาง (Fujira hub ใน UAE) ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.5 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 125% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 24% จากระดับสูงสุดเมื่อช่วงพ.ย. 64 
 

- ฮังการียังลังเลมาตรการคว่ำบาตรของยุโรปต่อการลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ถึงแม้ว่าได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไปอีก 2 ปีจนถึงปี 2567 ขณะที่รมว.ก.ต่างประเทศของฮังการีประกาศว่ามาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอาจทำให้ฮังการีต้องใช้เงินทุนกว่า 18 พันล้านยูโร ต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงโรงกลั่นในประเทศเพื่อให้สามารถใช้น้ำมันดิบชนิดอื่นทดแทนน้ำมันของรัสเซียได้และเพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปต่อแผนการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งการไม่เห็นด้วยของฮังการีส่งผลให้ยุโรปยังไม่สามารหาข้อสรุปแบบเป็นเอกฉันท์ได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว

-   European Commission คาดการณ์ GDP ของสหภาพยุโรปปรับลดลงที่ระดับ 2.7% และ 2.3% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 4.0% และ 2.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่ 6.9% ในช่วงไตรมาส 2/65 จากระดับ 6.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 ส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิขของยุโรปอาจชะลอตัว

-   เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของเยอรมนีเดือนพ.ค. 65 ตลาดคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.6 และ PMI ของยูโรโซนเดือนพ.ค. 65 ตลาดคาดอาจมีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า 
 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 พ.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 113.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 112.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 108.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบผันผวนเนื่องจากยุโรปเตรียมแผนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 พ.ค. 65 ปรับตัวลดลง สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว อย่างไรก็ตาม น้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) ที่ปล่อยออกมาของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกของ IEA เพื่อช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว