ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง” ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน”

ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง”  ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน”

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเกษตรทั้งเครื่องจักร การบริหารจัดการฟาร์ม ถือเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องก้าวให้ทัน เพื่อปรับตัวเองให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นทางรอดเดียวในภาวะความเสี่ยงที่สูงขึ้น

คูโบต้าฟาร์ม ได้มีการพัฒนาศูนย์เกษตรอัจฉริยะ ณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ และเป็นความภาคภูมิใจกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น โดยหวังใช้หนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

ทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เก็นจิโร่ คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม (KUBOTA FARM) เพื่อเยี่ยมชมฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าในภูมิภาคอาเซียน และการดำเนินงานสยามคูโบต้า ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน

 

ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง”  ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน”

รวมทั้งจะเป็นการสร้างความเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคตที่ส่งมอบสินค้าและบริการให้เกษตรกรไทยมากว่า 44 ปี ซึ่งคูโบต้าฟาร์มเป็น Innovative Farming Experience Center ที่ออกแบบภายใต้แนวคิด End to End Solutions จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยนำเอาองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นวัตกรรมเกษตรครบวงจร เอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้ามาประยุกต์ใช้ตลอด 10 โซนการเรียนรู้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 220 ไร่

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเทคโนโลยี IoT จากประเทศญี่ปุ่น เช่น Crop Calendar ปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ และมีแบบแผน นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (Agri Machinery Innovation and KUBOTA Smart Agri System หรือ KSAS) มาช่วยลดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ ผลผลิตและรายได้ 

พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาการทำเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเองเหมือนที่คูโบต้าฟาร์ม ตลอดจนยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

 

ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง”  ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน” ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง”  ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน”

สยามคูโบต้า มุ่งหวังให้คูโบต้าฟาร์มสามารถเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้นี้ไปสู่เกษตรกร และชุมชนอื่นๆ สร้างมาตรฐานเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เพื่อสานต่อแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจที่ควบคู่กับการตอบแทนสังคม

 

โดยการพัฒนาสินค้าที่มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพร้อมสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ

วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า คูโบต้าฟาร์ม ได้ใช้งบลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 145 ล้านบาท เนื่องจากได้เพิ่มแปลงเรียนรู้ทางด้านพืชสวน จากเดิมที่มีพืชเศรษฐกิจ 6 อย่างคือ ข้าวโพด ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

หลังจากที่เปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่ปี 2563 พบว่ามีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมแล้วกว่า 30,000 คน โดยทางคูโบต้าจึงมีแนวคิดจะขยาย ศูนย์เรียนรู้ในลักษณะนี้ตามจังหวัดอื่นแต่มีขนาดเล็กกว่า เช่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครสวรรค์ ราชบุรี

 

ญี่ปุ่นส่งคูโบต้าฟาร์ม “บ้านบึง”  ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม “อาเซียน”

ทั้งนี้ ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง 5 ประเด็นหลัก  ประกอบด้วย

การบูรณาการองค์ความรู้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก 

การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการเกษตร การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นด้านการเกษตร การอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร

การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การติดตั้งสถานีวัดอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร การปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงง่าย และสัญญาณที่ครอบคลุมทุกพื้นที่

การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย

การตลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดทั้งปริมาณความต้องการ และราคาเพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ การขยายตลาดใหม่เพื่อความยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล ติดตั้งสถานีวัดอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือ และบูรณาการจากทุกภาคส่วน 

"เชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายผลของสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ได้ทั่วไทย ช่วยให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง” 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์