ส่งต่อการบ้าน แก้โจทย์ "พัทยา" ต้อนรับนายกเมืองคนใหม่

ส่งต่อการบ้าน แก้โจทย์ "พัทยา" ต้อนรับนายกเมืองคนใหม่

ดีเดย์ วันอาทิตย์นี้ (22 พ.ค. 2565) ชาวพัทยาเตรียมเลือกตั้ง "นายกเมืองพัทยา" รับโจทย์ฟื้นเมืองท่องเที่ยว แก้ปัญหาเมือง สานต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

เมืองพัทยามีการปกครองด้วยองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพียงแต่มีพื้นที่รับผิดชอบ 54 ตารางกิโลเมตรไม่เต็มพื้นที่จังหวัด สาเหตุที่พัทยาได้รับการยกฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษมาจากลักษณะพิเศษของเมืองพัทยา ที่มีความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาจำนวนมากจนการปกครองรูปแบบเดิมไม่สามารถรองรับและบริหารจัดการได้เพียงพอ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมืองพัทยาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "นีโอพัทยา" เตรียมรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งระยะ 5 ปีข้างหน้าคาดว่ามีเม็ดเงินลงทุนมากโดยเฉพาะในอีอีซีถึง 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งการลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานใหม่สู่ความเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 

จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของเมืองพัทยาที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่พักอาศัย การขนส่งคมนาคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวริมชายหาด และวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ซึ่งการดำเนินในช่วงที่ผ่านมายังมีหลายส่วนต้องดำเนินการต่อ รวมถึงยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อสร้างเมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน
 

โจทย์การท่องเที่ยว
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบหนักให้เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเริ่มมีการปรับตัวและให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ภายหลังการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดการท่องเที่ยวพัทยาจึงกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแม้จะยังมีจำนวนไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด 

โดยเมืองพัทยาได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งด้านการปรับปรุงทัศนียภาพ มีโครงการนำสายไฟลงดินซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ลานจอดรถในบริเวณแหลมบาลีฮาย ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเกาะล้านได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา ประกอบด้วย 

1.แผนพัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน 

2.แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเมืองพัทยา เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ 

3.แผนพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง

แลนด์มาร์ค Old Town นาเกลือ

โครงการพัฒนาพื้นที่ “ลานโพธิ์-นาเกลือ” สู่ตลาดอาหารทะเลระดับโลกเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างอาคารจอดรถ รองรับได้ 239 คัน และจะปรับปรุงตลาดขายอาหารทะเลสดและของฝาก เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเมืองพัทยามาร่วมสร้างรายได้

การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสนามเด็กเล่น สะพานและจุดชมทัศนียภาพ ปากคลองนาเกลือ และคลองนกยาง (สะพานยาว) ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายเมืองพัทยา

ดันขนส่งสาธารณะ
เมืองพัทยายังมีแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ รถไฟฟ้ารางเบา จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยมีเป้าหมายยกระดับการขนส่งเพื่อคนพัทยา นักท่องเที่ยว และประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก คาดว่าภายในปี 2565 จะจัดทำ TOR ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนในเส้นทางดังกล่าว โดยการดำเนินงานจะเริ่มชัดเจนขึ้นภายหลังการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา

สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็น Feeder ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทางด้วย ซึ่งจะเชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

นอกจากนี้ เมืองพัทยายังได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและผลกระทบในอีก 3 เส้นทางที่เหลือให้แล้วเสร็จ

สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ โมโนเรล สายสีเขียว กำหนดรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อม (Straddle monorail) ที่มีโครงสร้างทางวิ่งเป็นทางยกระดับ ส่วนใหญ่แนวเส้นทางก่อสร้างไปตามแนวถนนเดิม โดยจะมีการเวนคืนพื้นที่ด้านข้างถนนเดิมเพิ่มเติมไม่มากนัก เพื่อการก่อสร้างบันไดและลิฟต์สำหรับทางขึ้น-ลงสถานี รวมมีระยะทาง 9.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 

1.เส้นทางสายหลัก (Main Line) เป็นทางคู่ยกระดับสถานีที่ 1-12 (สถานีรถไฟพัทยา-ศูนย์ซ่อมบำรุง) ระยะทาง 8.30 กิโลเมตร 

2.เส้นทางสายรอง (Spur Line) ทางเดี่ยวยกระดับสถานีที่ 12-13 (ศูนย์ซ่อมบำรุง-แหลมบาลีฮาย) ระยะทาง 1.60 กิโลเมตร

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ารางเบาเมืองพัทยามี 13 สถานี ประกอบด้วย สถานีพัทยา, มอเตอร์เวย์, ขนส่ง, แยกสายสาม, ศาลาว่าการ, วงเวียนปลาโลมา, พัทยาซอยห้า, สายสองซอยหก, ซอยเมดอินไทยแลนด์, สำนักงานหนังสือเดินทาง, พัทยานุกูล ,ทัพพระยาซอยสาม (ศูนย์ซ่อมบำรุง) และแหลมบาลีฮาย

โดยประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 26,922 ล้านบาท จะมีการคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 16 บาท บวกด้วยค่าโดยสารตามระยะทาง 2.80 บาทต่อกิโลเมตร (ราคา ณ ปี 2563) และกำหนดให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% สำหรับระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนที่เหมาะสม คือ 35 ปี รวมระยะเวลาในการก่อสร้างและดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่านายกและทีมบริหารเมืองพัทยาชุดใหม่ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเมือง และขับเคลื่อนเมืองพัทยาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนอย่างไร