อีอีซี เชื่อมสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น รุกต่อยอดดิจิทัล-คาร์บอนต่ำ

อีอีซี เชื่อมสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น รุกต่อยอดดิจิทัล-คาร์บอนต่ำ

อีอีซี ร่วมมือ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค และพันธมิตรเครือข่าย เร่งดึงนักลงทุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล ระบบออโตเมชั่น คู่พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว BCG เดินหน้าพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ กว่า 10,000 แห่ง พัฒนาทักษะบุคลากร 50,000 คน เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ใน 3 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงาน EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration Forum 2022 “Digitalizing & Decarbonizing in Manufacturing” ในโอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น   ว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่น และต่อยอดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี ที่มีมายาวนาน

เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เชื่อมโยงด้านการผลิต (Supply Chain) ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว BCG ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และความร่วมมือด้านสาธารณสุขผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้ง กรอบความร่วมมือพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง – ญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงาน และภาคเอกชนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยประสบผลสำเร็จกับความร่วมมือ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้พัฒนา EEC Automation Park ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนประยุกต์ใช้ ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่น สร้างความเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งได้ร่วมกับ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) JETRO และ หอการค้าญี่ปุนกรุงเทพ (JCC) ชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นมา ลงทุนผลักดันการใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่น พัฒนา Smart Factory 4.0 ในไทย 

โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ การลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านบาท  ก่อให้เกิดการลงทุน 5G ระบบหุ่นยนต์ออโตเมชั่น ในอีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี สร้างงาน รายได้ให้คนไทย และสนับสนุนให้ภาคการผลิตของไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ทัดเทียมทั่วโลก 

โดย อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 65 นำโรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี ทำงานร่วมกับธุรกิจที่ให้บริการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายและเทคโนโลยี (System Integrators) หรือ SI พร้อมสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบออโตเมชั่น ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2568) ไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง คาดว่าไม่เกิน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน 

ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงลดอัตราการเสื่อมของเครื่องจักร ลดภาระงานช่วยประหยัดพลังงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก สร้างรายได้ให้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน   

นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC HDC กล่าวว่า อีอีซี ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกด้านที่สำคัญ คือ การเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คนโดยขณะนี้ได้ขับเคลื่อนผ่าน EEC Automation Park ร่วมกับทาง มิตซูบิชิฯ และพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้อบรมบุคลากรด้านระบบออโตเมชั่นแล้วกว่า 1,000 คน และขณะนี้ได้เตรียมอบรมอยู่ในแผน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2565 นี้ จะสามารถผลิตบุคลากรทักษะสูงด้านดิจิทัลได้เพิ่มกว่า 2,000 คน 

พร้อมกันนี้ การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล อีอีซี ได้ร่วมกับกรมสรรพากร ผลักดันให้ EEC Automation Park และ FIBO เป็นศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนบริจาค และหักภาษีได้สูงสุด 100 ล้านบาท และภายในปี 2565 คาดจะสามารถขยายศูนย์ส่งเสริมฯ ได้อีก 2 แห่ง 

รวมทั้งอีอีซี ได้ขยายผลความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำข้อตกลง “ปฏิญญาวัดไตรมิตร” เพื่อร่วมกันเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรให้ได้ตามเป้าโดยเร็ว