เปิดแผน 3P “ปตท.” ดันไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

เปิดแผน 3P “ปตท.” ดันไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

เปิดแผน 3P “ปตท.” ขอเป็นหนึ่งองค์กรนำพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero แง้มภายในปีนี้เตรียมประกาศเป้าหมาย Net Zero ใหม่ ย้ำไวกว่าเป้าหมายประเทศแน่นอน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) หัวข้อ "สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ" ว่า ในการเดินหน้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อตอบโจทย์ประชากรทั่วโลกนั้น ปตท. ได้มีการจัดตั้งกรุ๊ปเน็ต ซีโร่ ขึ้นมาตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย

สำหรับเป้าหมายของกลุ่มปตท.จะทำให้เร็วกว่าที่ประเทศประกาศ แม้กลุ่มปตท. จะเป็นตัวที่ปล่อยเยอะ การทำได้ดีกว่าเร็วกว่าจะช่วยในเรื่องค่าเฉลี่ยที่ประเทศไปประกาศและผ่อนแรงรายเล็กรายน้อย โดยภายในปีนี้ ปตท.จะประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประกาศไปแล้วจะมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายเน็ต ซีโร่ กลุ่มปตท.จะใช้กลยุทธ์ 3P คือ 1. Pursuit ปตท.ต้องใช้พลังงานอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) ที่ปล่อยมาจากหน่วยผลิตของกลับมาเก็บไว้ใต้ผิวอากาศ โดยแหล่งที่ดีที่สุด คือแหล่งก๊าซและแหล่งน้ำมันที่อยู่ใต้ดินเพื่อไม่ออกมาทำลายโลก ซึ่งที่ทำแล้ว คือ แหล่งอาทิตย์ โดยจะเก็บได้ประมาณ 400,000 ตันต่อปี

เปิดแผน 3P “ปตท.” ดันไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ทั้งนี้ ศักยภาพแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเก็บได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะดำเนินการ รวมถึงการนำคาร์บอนที่เก็บไว้มา ใช้ประโยชน์ (CCUS) มาใช้ประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้ การนำพลังงานทดแทน (Renewable energy) อาทิ การติดตั้งโซล่าในหน่วยบริการของกลุ่มปตท. ส่วนคาร์บอนเทรดดิ้งนั้น ปตท.ได้ทดลองเป็นผู้ซื้อก่อนโดยใช้วิธีเมื่อมีการซื้อน้ำมันและใส่เรือขนส่งที่อยากให้เป็นกรีน ซึ่งเรือขนส่งจะต้องเติมน้ำมันที่มีการปล่อยคาร์บอนออกมา ปตท.ก็ไปซื้อคาร์บอนมาชดเชย ดังนั้น การส่งน้ำมันในรอบดังกล่าวจึงถือว่าเป็น Green shipment เป็น net Zero และอนาคต ปตท.จะผลิตและขายต่อ

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้ไฮโดรเจน ที่ทราบกันว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่ไม่มีมลพิษแต่ต้นทุนจะสูง จึงได้เริ่มศึกษาและทดลองใช้แล้วประเทศไทยจะมีสถานีบริการน้ำมันไฮโดรเจนแห่งแรก จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ที่พัทยา และเลอมูซีนวิ่งระหว่างสุวรรณภูมิมาอู่ตะเภา เพื่อจะทดลองเคสต่างๆ ของการใช้ไฮโดรเจน รวมถึงได้มีการศึกษาหลายแบบในการเอาไฮโดรเจนมาใช้ อาทิ นำมาผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมลพิษ ถือเป็นการศึกษาที่คิดว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานอนาคตที่จะมาในปีนี้ 10

2. Portfolio transformation กลุ่ม ปตท.ได้ปรับธุรกิจพอร์ตธุรกิจ ที่ผ่านมาพลังงานทั้งโลกที่คนไทยใช้อยู่คือ ฟอสซิล ถ่านหิน และแก๊สฯ เมื่อปัญหาโลกร้อนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงต้องปรับธุรกิจฟอสซิล ดังนั้น ปตท.จะขายธุรกิจถ่านหินทั้งหมดภายในปีนี้ และโรงกลั่นน้ำมันจะไม่มีการขยายต่อ แต่จะหันมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตน้ำมันสู่มาตรฐานยูโร5

"พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ปตท.ได้ตั้ง target ที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้นภายในปี 2030 ต้องมีพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตกว่า 12,000 เมกะวัตต์"

นายอรรถพล กล่าวว่า จากการที่ ปตท. ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่  “Powering life with Future Energy and Beyond” ปตท.ได้ขับเคลื่อนธุรกิจ EV Value Chain โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจะไปส่งเสริมทำให้ ตัว Energy กลุ่มไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนมีตลาดมากขึ้น ดยการจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส มาลงทุนในอีวี ที่ครบวงจร อาทิ การลงทุนในเรื่องของแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ โรงงานผลิตรถอีวี และตัวอีโคซิสเต็มของอีวี นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้รถอีวี กลุ่มปตท.จึงได้เปิดบริการเช่ารถอีวีเพื่อทดลองขับผ่าน แอปพลิเคชัน อีวี มี (EVme) สามารถเข้าไปใช้งานเช่ารถ EV ได้หลายรุ่น หลายยี่ห้อในระยะเวลา 3 วัน 5 วัน 7 วัน หรือ 1 เดือน เป็นต้น ถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจอีวีในประเทศไทยเกิดขึ้น”

3. Partnership and Society เข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับ partner ควบคู่กับการทำธุรกิจปตท. เช่น 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปตท.ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ ซึ่งก็ได้ทะเป้าหมายไปแล้ว โดยปตท.ได้จ้างมหาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเข้าไปประเมินตัวเลขป่า ปรากฏว่าป่าที่ปลูก 1 ล้านไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี และปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 1.7 ล้านตันต่อปี และป่าไม่ได้ให้แค่ 2 อย่างนี้ แต่ให้ชีวิตให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนโดยรอบด้วย

นอกจากนี้ ทางมหาลัยได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่า 1 ล้านไร่ พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 280 ล้านบาท ซึ่งคนในชุมชนได้เข้าไปเก็บของป่า เข้าไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีการตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องป่าอีก 3 ศูนย์การเรียนรู้ คือ ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ที่จังหวัดระยอง และศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงเทพ ที่ศรีนครินทร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกป่า

ดังนั้น การปลูกป่าจะช่วยให้ปตท.มุ่งสู่เป้า Net Zero ก่อนที่ประเทศประกาศไว้ ปตท.จึงมีแผนจะปลูกเพิ่มป่าอีก 2 ล้านไร่ และคาดว่าจะสามารถดูดซับได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี ถือเป็นแอคชั่นที่ปตท.จะลงไปทำ สร้างความมั่นใจได้กลุ่มปตท.ที่จะช่วยประเทศตามที่มีการประกาศ Position ไปแล้วในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 ดังนั้น ปตท.จะเป็นอีกแรงที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายที่วางไว้