ไทยเจ้าภาพประชุม เอเปค ดึงสมาชิกปักหมุด” FTAAP” ปูทางสู่การเปิดโต๊ะเจรจา

ไทยเจ้าภาพประชุม เอเปค ดึงสมาชิกปักหมุด” FTAAP” ปูทางสู่การเปิดโต๊ะเจรจา

ไทยใช้เวทีเอเปค เดินหน้าทำ FTAAP ลดอุปสรรคการค้า หนุนเศรษฐกิจเติบโต วางเป้าสำเร็จปี 2040 ดันมูลค่าการค้าเพิ่ม 200-400 % ชี้ เป็นเอฟทีเอใหญ่ที่สุดในโลก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา FTAAP หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)ของกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจหรือกลุ่มเอเปค ยังไม่สามารถเดินหน้าเริ่มการเปิดเจรจาได้ เป็นเพียงแนวคิดริเริ่มของเอเปกที่จะขับเคลื่อน แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปุตราจายาว่า สมาชิกจะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันหรือ FTAAP  และตั้งเป้าหมายเจรจาให้สำเร็จในปี 2040  แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้เริ่มอย่างจริงจัง

จนกระทั่งปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022)  ได้ประกาศขับเคลื่อน FTAAP อย่างจริงจัง  โดยตั้งเป้าจะบรรจุไว้ในการแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปค

FTAAP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดยการลดอุปสรรคและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกัน โดยยึดแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า FTAAP เป็น FTA ของกลุ่มความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจการค้าเอเปค มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป  เพิ่อให้ เกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจไปเป็น FTAAP ในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040  โดยไทยจะร่วมกับสมาชิกเอเปคในการเดินหน้าเรื่องนี้และจะบรรจุไว้ในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีการค้าเอเปค

ถ้า FTAAP สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมาก เพราะจะช่วยขยายการค้า การลงทุน จากการที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันจะลดเป็น 0% มีการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการมากขึ้น ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน มากขึ้น มั่นใจว่า FTAAP จะได้รับการสนับสนันจากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ แม้ระหว่างสมาชิก จะมีคู่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ทุกเขตเศรษฐกิจ จะมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต

 “หากไทยสามารถผลักดันการจัดทำได้สำเร็จ จะกลายเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์  (1,768 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น 200-400%”

ที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จใจการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP)  เมื่อปลายปี 2563 และมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 หลังจากความพยายามทุ่มเทเกือบ 8 ปี มี15 ประเทศสมาชิกประกอบด้วย15 ประเทศ ประกอบด้วยอาเซียน  10 ปรเทศ คือ   บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เมียนมา และประเทศคู่ค้าอีก 5 ประเทศได้ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  และขณะนี้ยังมีประเทศที่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่ม เช่น ฮ่องกง

อาร์เซ็ปถือเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดที่และเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์  (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

หากว่า มี FTAAP เมื่อไหร่จะกลายเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่กว่า RCEP  เพราะสมาชิกเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจมีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 1,768 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น 200-400%

อย่างไรก็ตามการที่จะผลักดัน FTAAPให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจมีความหลากหลายแตกต่างกัน โดยนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา มองว่า  เอฟทีเอ จะช่วยให้เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฟื้นตัวได้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เพราะจะมีการลดอุปสรรคทางการค้า กำหนดกฎระเบียบเป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างสมาชิก ทำให้การค้า การลงทุนสะดวกมากขึ้น และขยายตัวมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายของการจรจา คือ ระดับการพัฒนาของ 21 เขตเศรษฐกิจต่างกัน เพราะสมาชิกมีทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา ขนาดเศรษฐกิจมีทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ความได้เปรียบ เสียเปรียบต่างกัน จึงอาจทำให้การเจรจามีความยากลำบาก

FTAAP จึงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศสมาชิกที่ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยไทยหมายมั่นปั้นมือว่าปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค จะเป็นจุดเริ่มต้น”ของการเปิดเจรจา FTAAP  แม้ว่ายังคงต้องเผชิญกับปัญหาของสมาชิกที่คู่ขัดแย้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมั่นใจว่า ในฐานะไทยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จะเป็นสะพานเชื่อมสมาชิกให้จับมือร่วมกันเดินหน้า FTAAP เพราะถือเป็นประโยชย์ด้านเศรษฐกิจ  การค้า การลงทุน ของประเทศสมาชิก