คมนาคมลุยโครงสร้างพื้นฐานดันเม็ดเงินแตะ 2.4 ล้านล้าน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยในงานสัมมนา “Better Thailand ถามมา ตอบไป” หัวข้อ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร  เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยในงานสัมมนา “Better Thailand ถามมา ตอบไป” หัวข้อ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร  เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ระบุว่า แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2578 โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางบก ทาน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งจะต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการลงทุนและข้อได้เปรียบของประชาชนและภาคเอกชนที่จะลงทุน

โดยในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่งและมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2-3%

ส่วนการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า หรือปี 2574 ไทยจะมีนักเดินทางเข้ามาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก หรือมีต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่น้อยกว่า 200 ล้านคนต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้วางแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งมีแผนขยายอาคารรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองในอนาคต

ดันลงทุน EEC หนุน GDP โตเพิ่ม 1.5% 

ด้านเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ ช่วง 3-4 ปีข้างหน้า การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 แสนล้านบาท ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 1.5% การลงทุนในพื้นที่ EEC หากเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดเศรษฐกิจไทยโต 5% ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 7 ปีข้างหน้า 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนในพื้นที่ EEC ทำได้เร็วกว่าเป้าหมาย 1 ปี โดยระยะแรกมีการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน และการลงทุนเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6.5 แสนล้าน และอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก  9 แสนล้านบาท 

 

ททท.ตั้งเป้าปี 65 ฟื้นรายได้ท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน

ด้านผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร ระบุ ปัจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น หลังจากวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนต่อจีดีพีประมาณ 18% ในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 39.92 ล้านคน การเดินทางในประเทศสูงถึง 172 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งในเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีรายได้รวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่จากการระบาดโควิด-19 ในปี 2563 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และในปี 2564 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอแม้จะมีการเปิดประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีเหลือแค่ 4 แสนคน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเป็นช่วงที่ดีในการปรับตัว และรัฐบาลก็ต้องการพลิกโฉมประเทศไทยในทุกมิติซึ่งรวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวด้วย เบื้องต้นปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ 50% หรือ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อทำให้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด และในปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยว 80% หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 50% จากสถานการณ์ปกติ 

 

ส่งออกเครื่องยนต์หลักดันจีดีพีโต

ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุว่า ทิศทางอุตสาหกรรมไทย มีความท้าทายสูงจากหลายปัจจัยนอกเหนือการควบคุม ซึ่งผู้ประกอบการหลัก ทั้ง 45 อุตสาหกรรม ภาคผลิตที่ใหญ่ที่สุดจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ทั้งจากดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กระทบต่ออุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่ง ทำกำไรได้ดี หลังจากกระแส การเข้ามามีบทบาทของดิจิทัล เข้ามาดิสรัปชั่น สงครามการค้าโลก ระหว่างสหรัฐ - จีน เกิดการกีดกั้นการค้า ซัพพลายเชนโลกขาด ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยสงคราม ทำให้เกิดปัญหาชะงักงันของชัพพลายเชนโลกขนาดใหญ่ วัตถุดิบราคาแพงจากราคาน้ำมัน วิกฤติพลังงาน และสินแร่โลหะ สภาวะโลกร้อน ที่ในปี 2030 ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 40% และเป้าหมายใหญ่ 2065 ไทยจะเป็น Net - Zero ซึ่งถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติก็เป็นโอกาส ยังมีการส่งออกเป็นตัวหลักที่ช่วยดันจีดีพีไทยที่ติดลบ ช่วงปี 2563 สู่การขยายตัว 1.6 % ในปี 2564 ทั้งนี้เชื่อว่าอุตสาหกรรมส่งออกไทย ยังจะเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้และปีต่อๆไป