‘พึ่งพาตนเอง-ปรับตัว’ รับมือความเสี่ยงหลังโควิด

เวทีเสวนาเบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ ถามมา-ตอบไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเต็มสูบ แลกเปลี่ยนมุมมองความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ร่วมเสวนาในงาน “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ระบุว่า ยอมรับว่าไทยยังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงด้านการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย แต่สิ่งที่ยังค้ำจุนเศรษฐกิจไทยได้คือการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและชนบท ทั้งนี้จากวิกฤติโควิด และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไทยจะต้องจัดการกับความเสี่ยงนี้ให้ได้ โดยเฉพาะการแสวงหาตลาดใหม่ๆ

ด้านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งออกมาตรการด้านการเงินการคลัง เพื่อประคองเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสถานการณ์โควิด รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข ผ่านการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท โดยมีการอัดเม็ดเงินในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือช่วยให้ประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น ผ่านการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง

ด้านรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ระบุว่าในมุมมองของภาคเอกชน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการทั้งหมด เพื่อให้โควิดหายไป แต่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนยังคงอยู่ จึงต้องปรับตัวไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสหากปรับตัวได้ถูกต้อง โดยดึงให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอนาคต ด้วยการแบ่งบทบาทที่เกื้อกูลกัน

สำหรับงานเสวนา“เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาคำตอบที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมค้นหาคำตอบกับประเด็นคำถามที่ค้างคาใจ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงจุลภาค อาทิ ประเทศไทยหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ การวางโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง การวางแนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในการแข่งขันในเวทีโลก การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน สินค้าราคาแพง ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และการผลักดันให้กฎหมายและระบบราชการไทยก้าวทันโลกยุคดิจิทัล