"สินมั่นคง" เผยค้างจ่าย "เคลมประกันโควิด" 3 หมื่นล้าน 3.5 แสนราย

"สินมั่นคง" เผยค้างจ่าย "เคลมประกันโควิด" 3 หมื่นล้าน 3.5 แสนราย

"สินมั่นคง" ยันไม่ปิดกิจการ ขอเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เหตุปัญหาสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ จะได้รับการแก้ไข ค้างจ่ายอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ธุรกิจหลักประกันรถยนต์ - นอนมอเตอร์ โตดีต่อเนื่องมาโดยตลอด และการชดใช้สินไหมประเภทอื่นยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ

ล่าสุดวันนี้ (18 พ.ค.) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK มีคำแถลงการณ์การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกำหนดรายละเอียดในกรณีการขออนุญาตยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อดูแลผู้เอาประกันภัย และคู่ค้าอย่างเต็มความสามารถ

บริษัทจึงได้ยื่นคำขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อสำนักงาน คปภ. ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ต่อมา ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน คปภ. จึงได้ยินยอมให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยบริษัทต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ดังนั้น บริษัทจึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565  

เหตุและความจำเป็นในการยื่นฟื้นฟูกิจการ

ในปี 2564 บริษัทได้รับประกันภัย Covid -19 แบบเจอ จ่าย จบ และแบบ 2 in 1 รวมประมาณ 2 ล้านกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลผู้เอาประกันและจ่ายสินไหมโควิดให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อ Covid-19 ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหม Covid-19

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของ Covid -19 ในวงกว้าง และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ

ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหม Covid-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมสินไหม Covid-19 ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Covid-19 ถึงเกือบ 100 เท่า

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหม Covid-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหม Covid-19  ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัท เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ตาม แต่สินไหม Covid-19 ที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน

บริษัทมุ่งมั่น และพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และหาทางออกตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากบริษัท ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย และถูกปิดกิจการในท้ายที่สุด ส่งผลให้สินไหม Covid-19 หลายหมื่นล้านบาท ต้องตกเป็นภาระแก่กองทุนประกันวินาศภัย อันจะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัยวิกฤติยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา

กองทุนประกันวินาศภัย ได้รับภาระให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วถึง 4 ราย ทำให้มีแนวโน้มสูงที่กองทุนประกันวินาศภัยจะขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าสินไหมแทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องปิดกิจการซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดหนี้สูงกว่าสองหมื่นล้านบาท   นอกจากนี้ ผู้เอาประกันของบริษัท จำนวนกว่า 2.5 ล้านฉบับ จะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ  ของบริษัทรวมถึงพนักงานเกือบ 2,000 คน และคู่ค้าต่างๆ จะไม่ได้รับชำระหนี้และสูญเสียรายได้  ทางบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่องและปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และแก้ไขฐานะการเงิน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย 

การดำเนินการระหว่างการฟื้นฟูกิจการ

บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทมีเจตนาที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไหม Covid-19 โดยการฟื้นฟูกิจการจะเปิดโอกาสให้บริษัท และผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ได้เจรจาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 และเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะคุ้มครองให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ได้รับการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่

บริษัทต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน และกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะให้ความมั่นใจได้ว่าผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 จะได้รับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้มีการยอมรับร่วมกัน โดยผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะมีโอกาสได้พิจารณา และลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

สำหรับผู้เอาประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล บริษัทมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลการรับประกัน และจ่ายสินไหมสำหรับผู้เอาประกันดังกล่าวจนสิ้นสุดกรมธรรม์ บริษัทขอให้ความมั่นใจว่าบริษัท จะยังคงให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และรักษาคุณภาพ ความสะดวกรวดเร็ว ในการให้บริการดังเดิม โดยบริษัท ขอเรียนว่าหากไม่นับรวมภาระหนี้ค่าสินไหม Covid-19 ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างการชำระหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจทางการค้าปกติ และจะยังคงดูแลคู่ค้าต่างๆ ได้แก่ อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทน นายหน้า ตามการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติ  

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหม Covid -19 ด้วยการฟื้นฟูกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย บริษัทรู้สึกซาบซึ้งที่ทุกฝ่ายมีความเข้าใจและให้การสนับสนุนกิจการของบริษัท มาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือเพื่อก้าวผ่านอุปสรรคครั้งใหญ่ของบริษัทในครั้งนี้ และจะทำให้บริษัท สามารถกลับมาประกอบการอย่างแข็งแกร่ง เพื่อให้บริการอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมกิจกรรมด้านสังคมดังที่บริษัท ได้ยึดมั่นตลอดมาได้ต่อไป

บริษัทมีความตั้งใจที่จะสื่อสารกับท่านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ท่านทราบถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรงไปตรงมา บริษัทจะประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้รับทราบถึงขั้นตอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความคืบหน้า และข้อมูลอันสำคัญ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์: www.smk.co.th  Line: @smkinsurance Facebook: www.facebook.com/smkinsurance สาขาของบริษัททั่วประเทศ และหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ  ต่อไป 

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์