การบินไทย กู้เงิน 2.5 หมื่นล้านสะดุด แบงก์ห่วงธุรกิจการบิน-ราคาน้ำมันพุ่ง

การบินไทย กู้เงิน 2.5 หมื่นล้านสะดุด แบงก์ห่วงธุรกิจการบิน-ราคาน้ำมันพุ่ง

“ปิยะสวัสดิ์” ระบุการบินไทยกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านช้ากว่าแผน ยันแคชโฟลว์พอ ไม่กระทบธุรกิจ “การบินไทย” เผยแบงก์ห่วงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ราคาน้ำมันพุ่ง เร่งเปิดเส้นทางบินเอเชีย จับมือไทยสมายล์ทำการตลาด

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีอายุครบ 62 ปี ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 และต้องในแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดแนวทางการจัดหาสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการตามแผน แต่ภายหลังบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด ที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) มาตั้งแต่มีการอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ ประเมินว่าการบินไทยต้องใช้เงินเพียง 25,000 ล้านบาท

การบินไทยจัดโรคโชว์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับสถาบันการเงินที่สนใจให้เงินกู้กับการบินไทย และจะเจรจากู้เงินรูปแบบเงินกู้ร่วม หรือ Syndicates loan ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นการเจรจากู้เงินกับธนาคารเจ้าหนี้ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารกรุงเทพจะเป็น Underwriter

ที่ผ่านมาการบินไทยตั้งเป้าหมายตั้งเป้าหมายที่จะลงนามสัญญาเงินกู้ในเดือน มี.ค.2565 พร้อมกับการยื่นเรื่องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อปรับปรุงแผนการจัดหาสินเชื่อใหม่ที่ตัดการสนับสนุนทางการเงินของภาครัฐออกไป และปรับโครงสร้างทุนที่จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า การจัดหาเงินทุนใหม่จากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท มีความคืบหน้า แม้ยังไม่มีข้อสรุปการตกลงทำสัญญาตามคาดการณ์เดิมในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์ทางธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งรายได้จากการขนส่งสินค้าและรายได้จากการเดินทางของผู้โดยสารที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ความล่าช้าของการจัดหาเงินทุนใหม่ยังไม่กระทบธุรกิจ

“แม้เลยเวลาที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้กระทบอะไร เรายังไม่ได้เร่งรัด นั่นแปลว่าธุรกิจของเรายังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะขนส่งและผู้โดยสารยังดีต่อเนื่อง ทำให้แคชโฟลว์การบินไทยยังดี ดังนั้นยังมีเวลาที่เราจะเจรจา ไม่รีบร้อน เพื่อให้การเจรจานี้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด” นายปิยะสวัสดิ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การเจรจากู้เงินครั้งนี้ต้องพิจารณาหลายส่วน โดยเฉพาะสัดส่วนการให้กู้ของแต่ละธนาคาร เพื่อกระจายความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร ซึ่งการที่ธนาคารกรุงเทพเป็น Underwriter จะทำให้ธนาคารกรุงเทพมีวงเงินให้กู้สูงกว่าธนาคารอื่น

รวมทั้งการบินไทยต้องพิจารณาการกู้เงินจากธนาคารควบคู่ไปกับแหล่งอื่น โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้ที่เห็นชอบในหลักการในการให้กู้แต่ต้องเจรจาในรายละเอียด เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมให้กู้ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเจรจากับสถาบนการเงินติดขัดที่การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการบินยังมีความเสี่ยงมาก ทั้งจากผลกระทบโควิด-19 และผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมัน 

นอกจากนี้ การบินไทยได้ชี้แจงสถาบันการเงินถึงแนวทางขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู และผลงานลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เห็นผล ตลอดจนการรายงานแนวทางหารายได้ที่ขณะนี้ไม่เพียงหารายได้จากการเดินทางของผู้โดยสาร แต่การบินไทยมีรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอโรว์) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้ยังอยู่ขั้นตอนการเจรจาสถาบันการเงินเรื่องเงื่อนไขเงินกู้จำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณานิดนึง และการบินไทยต้องขายไอเดียการทำธุรกิจเยอะมาก เพื่อที่สร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงิน เพราะต้องยอมรับว่าแบงก์มีความเชื่อมั่นและลงทุนในธุรกิจการเงินน้อยมาก”

มั่นใจมีกระแสเงินสดเพียงพอ

สำหรับแผนที่การบินไทยคาดการณ์ไว้ จะต้องเร่งหาทุนใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องภายในไตรมาส 1 แม้ยังไม่ได้เงินทุนตามแผน แต่การบินไทยยังมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะช่วงที่ผ่านมาลดค่าใช้จ่ายรวมกว่า 40,000 ล้านบาท อีกทั้งยังหารายได้นอนแอโรว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนของการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) สร้างรายได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563-ธ.ค.2564 รวม 13,500 ล้านบาท

“เชื่อว่าการพิจารณาทุนใหม่จากสถาบันการเงินจะไม่ติดปัญหา เพราะแบงก์เหล่านี้เป็นเจ้าหนี้รายเดิมที่มีความเห็นตรงกันกับการบินไทยในการสนับสนุนแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว แต่การพิจารณาต้องใช้ข้อมูลประกอบค่อนข้างมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยการบินไทยคาดหวังว่าการพิจารณาน่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ อาจจะในอีก 2-3 เดือน ซึ่งอยากให้มั่นใจว่าการพิจารณาที่ล่าช้าออกไปนั้นไม่กระทบธุรกิจ เพราะเรายังมีรายได้เข้ามา โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประเทศ รายได้เส้นทางอินเตอร์จะเพิ่มขึ้น”

หวังนำมาจ่ายหนี้บัตรโดยสาร

ก่อนหน้านี้ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เชื่อว่าทุนที่จะได้มาใหม่จะทำให้การบินไทยมีผลประกอบการกลับมาเป็นบวกก่อนกำหนดใน 5 ปี โดยเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท การบินไทยมีแผนนำเงินดังกล่าวมาจ่ายคืนหนี้ค้างชำระค่าบัตรโดยสาร 10,000 ล้านบาท และจ่ายชดเชยพนักงานลาออกอีก 4,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 11,000 ล้านบาท จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอขอวงเงินสินเชื่อใหม่ที่การบินไทยจัดทำไว้นั้น มีรายละเอียดประกอบ คือเป็นวงเงินกู้ระยะยาว หรือหุ้นกู้ หรือตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการบินไทยกำหนดระยะเวลาชำระครั้งเดียวทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่ 6 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในลักษณการชำระดอกเบี้ยรายไตรมาส และชำระวันทำการสุดท้ายของงวดดอกเบี้ย 

โดยนำหลักประกันเพื่อค้ำประกันการกู้เป็นสินทรัพย์มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

2.ที่ดินและอาคารจำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่สำนักงานดอนเมือง 

3.อะไหล่อากาศยานและเครื่องยนต์

4.อากาศยานและเครื่องยนต์รอการขาย 

5.อสังหาริมทรัพย์รอการขายทั้งในและต่างประเทศ 

อีกทั้งการจัดหาสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ในแผนฟื้นฟูการบินไทยระบุเงื่อนไขสินเชื่อใหม่ ประกอบด้วย 

1.อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินไม่เกินกว่าอัตรา MLR ต่อปี

2.ระยะเวลาขอสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เบิกใช้สินเชื่อใหม่ครั้งแรก ชำระเป็นรายครึ่งปี 

3.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อใหม่และจนเงื่อนไขอื่นให้เป็นตามที่ผู้บริการแผนบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ 

4.เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่จะได้สิทธิซื้อหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่การบินไทยเบิกใช้จริง โดยสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนกำหนดให้ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

เร่งบุกเส้นทางบิน"เอเชีย"

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยและไทยสมายล์ เร่งเดินหน้าทำการตลาดอินเดียร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวพักผ่อน กลุ่มนักกอล์ฟกลุ่มแต่งงาน กลุ่มเยี่ยมญาติ

ทั้งนี้ อินเดียเป็นตลาดสำคัญมีจำนวนผู้โดยสารปี 2562 อยู่ที่ 1.9 ล้านคน สร้างรายได้ให้การบินไทย 8,500 ล้านบาท และมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-มุมไบ มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร 80-90% การเจาะตลาดอินเดียจะเป็นเหมือนจุดสตาร์ทการฟื้นตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ทำการบินเส้นทางระหว่างอินเดียมาไทย ดังนี้ 

1.เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-นิวเดลี สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน

2.เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-มุมไบ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

3.เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-เจนไน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน 

4.เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-เบงกาลูรู สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

5.เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-กัลกัตตา สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

6.เส้นทาง ไปกลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-มุมไบ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

รวมทั้งการประเมินเคบิ้นแฟกเตอร์ของการบินไทยและไทยสมายล์ จะนำชาวอินเดียมาได้อย่างน้อย 13,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะสูงถึง 80,000 คนต่อเดือน เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติ

นอกจากนี้ การบินไทยและไทยสมายล์กลับมาให้บริการเส้นทางบินเอเชียเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา การบินไทยกลับมาให้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ (บาหลี) ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนไทยสมายล์กลับมาให้บริการ 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และกรุงเทพฯ-ฮานอย ประเทศเวียดนาม