นายกฯ โชว์ผลสำเร็จเยือนสหรัฐ ชู Thailand+1 ดึงลงทุนไทยพ่วงเพื่อนบ้าน

นายกฯ โชว์ผลสำเร็จเยือนสหรัฐ 	ชู Thailand+1 ดึงลงทุนไทยพ่วงเพื่อนบ้าน

นายกฯ แจงผลเยือนสหรัฐ หารือ "โจ ไบเดน" ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียน ดึงนักธุรกิจสหรัฐลงทุน EV พลังงานสะอาด ชูนโยบาย Thailand+1 ลงทุนไทยพ่วงประเทศเพื่อนบ้าน สร้างซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.2565

รัฐบาลสหรัฐมีท่าทีร่วมกันกับอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เทคโนโลยีสะอาด การรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ การสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

"ผมได้หารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน และผู้นำระดับสูงของสหรัฐ เพื่อขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและอาเซียนที่ต้องไปด้วยกันทั้งอาเซียน"

รวมทั้งได้ชี้แจงการเป็นเจ้าภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ในปี 2565 ซึ่งไทยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไบโอฟีล ต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ ได้แจงภาคเอกชนสหรัฐ 2-3 กลุ่ม ถึงความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์การลงทุน การพัฒนาซัพพลายเชนที่เข้มแข็งเพื่อลดผลกระทบที่ไม่ไม่คาดคิด ซึ่งประเทศไทยพร้อมเป็นซัพพลายเชนที่เข้มแข็งให้กับนักธุรกิจสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไทยประกาศนโยบายลดคาร์บอนไปแล้ว

ส่วนเรื่องที่พูดมากที่สุด คือ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่หลายด้านให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเพิ่มจีดีพีให้สูงขึ้น จึงเชิญสหรัฐให้เข้ามาลงทุนเพื่อตั้งซัพพลายเชนในไทย 

รวมทั้งได้มีการชี้แจงกับนักธูรกิจสหรัฐถึงนโยบาย Thailand+1 ที่มาลงทุนในไทยแล้วขยายต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแล้วเข้ามาลงทุนในไทย เป็นการพัฒนาเพื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน

"ผมยินดีต้อนรับและพร้อมรับการมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสหรัฐ ในการประชุมผู้นำ APEC ในเดือน พ.ย.2565 เพื่อสร้างความสัมพันธ์และขับเคลื่อนหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์"

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งนี้ได้ผลักดันให้สหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal ร่วมมือกันในภูมิภาคเพื่อสร้างความเชื่อใจกันและความสงบสุข โดยเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นเอาชนะกันด้วยกำลังให้มาข้อพิจารณาประเด็นมนุษยธรรม

รวมทั้งได้เสนอประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไทยและอาเซียนจะต้องเข้ามาเป็นห่วงโซ่อุปทาน EV ซึ่งได้เชิญชวนให้สหรัฐเข้ามาลงทุน EV และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การพัฒนาบุคลากร

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง และถ้าทำโครงสร้างได้จะแก้ปัญหาได้จะทยอยดีขึ้น เช่น การแก้ปัญหาความยากจน แต่ไม่ใช่ว่าปี 2565 คนจนจะหมดไปเพราะต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร จึงพัฒนาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ถ้าทำได้เกษตรกรจะไม่จน

นอกจากนี้ ได้มีการหารือที่สหรัฐ คือ บทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคถึงความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าไทยจะผลักดันวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 ซึ่งประเทศไทยดำเนินการได้ดี

สำหรับประเด็นการค้าการลงทุนที่เดิมคาดว่าจะดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่มาเจอสถานการณ์สงกรานต์ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% แต่ปรับลดเหลือ 3.6% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยจาก 4% เหลือ 3%

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งไทยและหลายประเทศ โดยรัฐบาลพยายามดูแลราคาพลังงานในประเทศให้ดีที่สุด แต่เมื่อดูแลอย่างเต็มที่จะกระทบส่วนอื่นเพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ดังนั้น ต้องช่วยกันมองปัญหาและร่วมมือกันแก้ปัญหาจะดีกว่าการบิดเบือนหรือด้อยค่ากัน ซึ่งความรักความสามัคดีจะทำให้แก้ได้