‘ประยุทธ์’ นำ ‘ทีมไทยแลนด์’ หารือบิ๊กธุรกิจสหรัฐฯ ดึงลงทุนพลังงานสะอาด-EV

‘ประยุทธ์’ นำ ‘ทีมไทยแลนด์’ หารือบิ๊กธุรกิจสหรัฐฯ ดึงลงทุนพลังงานสะอาด-EV

นายกฯ นำทีมประเทศไทยหารือร่วมกับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เน้นย้ำไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจและอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ชวนยักษ์ใหญ่ธุริจสหรัฐฯลงทุนพลังงานสะอาด-EV

วันนี้ (วันที่ 13 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้อง George Washington โรงแรม St. Regis กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือระหว่างอาหารเช้ากับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ (Breakfast Roundatable) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน – สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ National Center for APEC (NCAPEC)

ทั้งนี้ บริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่ได้เข้าร่วมด้วยมีดังนี้

  • ประธานและ CEO สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC)
  • นาย Charles Freeman รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย หอการค้าสหรัฐฯ (USCC)
  • นาย Alex Parle รองประธานบริหาร National Center for APEC (NCAPEC)
  • Chevron, ConocoPhillips
  • AirBnB, Marriott
  • Koch Industries
  • Lockheed Martin
  • Organon, PhRMA
  • Tyson Foods
  • Boeing
  • FedEx
  • Tesla

เมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เข้าร่วมการหารือและขอบคุณ USABC USCC และ NCAPEC ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ การพบกันในวันนี้เป็นเหมือนการได้พบกับเพื่อนเก่า โดยเฉพาะ USABC ที่ได้พบหารือด้วยเป็นประจำทุกปี รวมทั้ง USCC ที่ได้พบกันทุกครั้งที่ได้เดินทางมาสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้พบกับ NCAPEC โดยเฉพาะในห้วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้าง เชื่อมต่อกัน และมีความสมดุลอย่างแท้จริง 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย โดยมีการฟื้นตัว เติบโตประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งภาคเอกชนนักธุรกิจสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญ ขอบคุณความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้น ๆ รวมถึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์ BCG อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นต้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศ Super Power แต่พร้อมใช้ Soft Power สนับสนุนร่วมมือกับเอกชนสหรัฐฯ 
 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. การเร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนป้องกันการหยุดชะงักและสร้างภูมิต้านทานสำหรับวิกฤติต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยไทยพร้อมเป็นส่วนสำคัญและศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค และจะร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับการลงทุน ทั้งในการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย รวมถึงเป็นฐานเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค 

2. การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และให้ความสำคัญกับการดูแลฐานทรัพยากร เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่

  • (1) เกษตรและอาหาร
  • (2) สุขภาพและการแพทย์
  • (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ
  • (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณร้อยละ 21 ของ GDP โดยรัฐบาลไทยขอเชิญชวนให้มาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ทันสมัยและการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

ในด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2565 และแนวทาง 4D1E พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 50 ของพลังงานที่ผลิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม Clean Energy Demand Initiative กับภาคเอกชนสหรัฐฯ และหวังว่าข้อริเริ่มนี้จะผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับบริษัทสหรัฐฯ ในด้านพลังงานสะอาดได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV โดยรัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยต้องการร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งการพัฒนาโครงข่ายด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและศูนย์บริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง 

3. การเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยพร้อมร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด BCG ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “Bangkok Goals on BCG Economy” โดยจะวางรากฐานระยะยาวให้เอเปคร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตภูมิอากาศ เพิ่มความพยายามเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เสริมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยมีแผนจัดการหารือโต๊ะกลมในกรอบเอเปคเพื่อระดมความเห็นเรื่องหุ้นส่วนเหล่านี้ในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ที่ไทยผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และการลดคาร์บอนและพลังงานสะอาด โดยการประชุมของ ABAC ที่ NCAPEC มีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจของเอเปค ซึ่งภายใต้กลไกดังกล่าว ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อน FTAAP ในยุคหลังโควิด-19 ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดการดำเนินการในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกันระหว่างสองฝ่ายในปีการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ และในอนาคต

โดยในส่วนของภาคเอกชนต่างชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรี นโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติที่นายกรัฐมนตรีผลักดัน เชื่อมั่นต่อโอกาส การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ความร่วมมือกันจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น รวมทั้ง เชื่อมั่นว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้น