10 สาระสำคัญ พ.ร.บ.ประกันสังคม ล่าสุด ‘ผู้ประกันตน’ ได้สิทธิ์อะไรเพิ่มบ้าง?

10 สาระสำคัญ พ.ร.บ.ประกันสังคม ล่าสุด ‘ผู้ประกันตน’ ได้สิทธิ์อะไรเพิ่มบ้าง?

เปิด 10 สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผ่าน ครม.ล่าสุด แก้ไขในรอบ 33 ปี เช็กเลยเงื่อนไขอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากได้ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประกันสังคมถือว่าเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับแรงงานตั้งแต่เริ่มทำงานไปจนถึงวัยเกษียณ ปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม 3มาตรา ทั้ง 33 ,39 และ 40 รวมกันกว่า 23,864,373

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมหลายข้อ  ทั้งในส่วนของการใช้เงินจากเงินออมกรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่นๆ ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน บอกว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งแรกในรอบ 33 ปี

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 10 ประเด็นสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา

 

10 ประเด็นสำคัญและสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้เพิ่มเติมหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ได้แก่ 

  • 1.ขยายอายุลูกจ้างในระบบประกันสังคมจากเดิม 15 – 60 ปี เป็น 15 – 65 ปี

เพื่อให้แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุได้รับคความคุ้มครองในระบบประกันสังคม ตามแนวโน้มที่ทำงานของผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นในสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

  • 2.กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างที่ได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลา

ภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน จากเดิม ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพจะได้รับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนได้รับมากขึ้น

 

  • 3. แก้ไขการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

โดยผู้ประกันตนซึ่งไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ

จากเดิมสำหรับเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง เป็น ทั้งนี้ เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่าย เพื่อให้การคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบมีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้ประกันตน

 

  • 4.กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้รับบำนาญชราภาพประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป

ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และให้นำส่งเงินสมทบเพื่อให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุกพลภาพและกรณีตาย

โดยสิทธิดังกล่าวไม่สามารถโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิมีหนี้อันเกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ สปส. มีสิทธิหักเงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิมีหนี้ค้างชำระกลับเข้ากองทุน (จากเดิม ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้รับบำนาญชราภาพไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนอีกได้) เพื่อให้ผู้ที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับทั้งเงินบำนาญชราภาพรายเดือน และสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

 

  • 5.แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง

เป็นการเหมาจ่ายในอัตราครั้งละ 50% ของค่าจ้าง จากเดิม 90 วัน เป็นเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเพิ่มขึ้น

 

  • 6.แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่จากการทำงานมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้

กรณีทุพพลภาพ จากเดิม 50% ของค่าจ้าง เป็น 70 % ของค่าจ้าง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเพิ่มขึ้น

 

  • 7. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทของประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่

7.1) เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า เงินบำนาญชราภาพ

7.2) เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า เงินบำเหน็จชราภาพ

7.3) เงินที่จ่ายให้ก่อนรับเงินบำนาญชราภาพ เรียกว่า “เงินบำนาญจ่ายล่วงหน้า”

(จากเดิม กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพไว้ 2 ประเภท คือเงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ) เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพก่อนที่จะได้รับนั้น สามารถมีสิทธิได้รับเงินก้อนส่วนหนึ่งก่อนได้

 

  • 8. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิเลือกได้รับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ

ตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาก่อน หรือสามารถนำไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน จากเดิม กำหนดให้ผู้รับประกันตนที่ส่งงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น และผู้ประกันตนไม่สามารถยื่นขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาก่อนหรือสามารถนำหลักประกันมาใช้ได้

 

  • 9.กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ

ให้สำนักงานหักเงินชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระอันเกิดจากการดำเนินการที่นำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินไว้เพื่อส่งใช้กองทุนก่อนในกรณีมีเงินชราภาพเหลืออยู่

และเมื่อหักเงินดังกล่าวแล้วเหลือเท่าไรให้ทายาทของผู้นั้นซึ่งมีชีวิตอยู่ในวันที่ผู้ประกันตน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตรา และการหักส่วนลดเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพที่จะได้รับตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เดิมมิได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถหักเงินชราภาพได้)

 

  • 10.กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนและต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน

และจะต้องมิใช่ผู้ได้รับหรือเคยได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เดิม กำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ได้รับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 60 ปีบริบูรณ์และที่ยังคงทำงานได้สามารถมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เสียก่อนที่จะได้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนใดประโยชน์ทดแทนหนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน

 

การลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง ดังนี้ 

  • 1.กำหนดให้นายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลา หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานขอให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในกำหนดเวลา หรือไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิม กำหนดให้นายจ้างที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบรายงานหรือไม่แจ้งเป็นหนังสือมีความผิด

 

  • 2.กำหนดให้นายจ้างผู้ใดยื่นแบบรายการ หรือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ อันเป็นเท็จ

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ