การยางแห่งประเทศไทยคาดราคายางยืนเหนือ 60 บาท/กก.

สถานการณ์ราคายางพาราในปีนี้ คาดว่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อฟื้นตัว การผลิตยางล้อรถยนต์ขนาดเล็กมีปริมาณใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนโควิด

ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ระบุ สถานการณ์ราคายางพาราในปีนี้ คาดว่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อฟื้นตัว การผลิตยางล้อรถยนต์ขนาดเล็กมีปริมาณใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนโควิด 19 ระบาด แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยังยืดเยื้อ แต่สงครามก็ส่งผลดีกับจีน ที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกยางพาราของไทย

 

เบื้องต้นพบว่าในปีนี้ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างอินโดนีเซียใน 3 ปี ข้างหน้าผลผลิตยางพาราจะลดลง 30 % เนื่องจากขาดแรงงาน ไม่มีแนวทางการจัดการโรคใบร่วงที่ดีพอ และเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันที่สร้างรายได้มากกว่า ทำให้แนวโน้มราคายางปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะสูงกว่า กิโลกรัมละ 60 บาทอย่างแน่นอน

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ภัยธรรมชาติ ค่าระวางเรือ มาตรการกีดกันทางการค้าด้านคาร์บอนเครดิต อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ 

 

ในปีนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายประกันรายได้ยางพารา แต่เพื่อลดแรงกระแทกด้านราคา กยท.จึงมีนโยบายรองรับ เช่น การชะลอการเก็บน้ำยาง โครงการเก็บยางแห้งของผู้ประกอบการ โครงการแปรรูปยาง โดยบางโครงการ กยท. ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวสวนยาง

 

ในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าไทยจะมีผลผลิตยางประมาณ 2.09 แสนตัน และมิถุนายนมีผลผลิต 3.93 แสนตัน ด้านการส่งออก ไตรมาส 2 จะมี 9.94 แสนตัน ลดลง 6.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

ส่วนผลผลิตยางทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีจำนวน 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาดประมาณ 9.7 หมื่นตัน