'ซีอีโอ' จี้แก้ปัญหา 'รถติด-น้ำท่วม' นักธุรกิจ หนุน “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.

'ซีอีโอ' จี้แก้ปัญหา 'รถติด-น้ำท่วม'  นักธุรกิจ หนุน “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.

“ซีอีโอ” จี้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แก้ปัญหาเร่งด่วน 3 อันดับแรก "จัดระเบียบจราจร แก้รถติด แก้น้ำท่วมอย่างยั่งยืน ยกระดับขนส่งสาธารณะ กำหนดค่าบริการที่เหมาะสม“ ยกเกณฑ์หลัก ”ต้องเป็นนักพัฒนา ทันสมัยในวิธีคิด" ซีอีโอหนุน “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุเห็นความตั้งใจ เป็นนักพัฒนา

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 100 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก และไอทีดิจิทัล ถึง "ผู้ว่าฯ กทม.ในฝันที่อยากเห็น" รวมถึงเกณฑ์การตัดสินใจ และภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหา "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวง ที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การลงทุนของประเทศ โดยใช้เวลาในการสำรวจระหว่างวันที่ 5-12 พ.ค.2565 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

'ซีอีโอ' จี้แก้ปัญหา 'รถติด-น้ำท่วม'  นักธุรกิจ หนุน “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.

เปิด 3 เรื่องร้อนต้องเแก้-เกณฑ์เลือก 

จากผลสำรวจนักธุรกิจ พบว่า ปัญหาเร่งด่วน 3 อันดับแรกที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาแก้ปัญหามากที่สุด คือ การจัดระเบียบการจราจร แก้ปัญหารถติด คิดเป็นสัดส่วน 66.9% รองลงมา แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน 57.1% และ ยกระดับขนส่งสาธารณะ รวมถึงกำหนดค่าบริการที่เหมาะสม 50.3% นอกจากน้้นยังต้องการให้ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เข้ามาจัดการปัญหา เช่น แก้ปัญหาฝุ่น ควัน มลพิษ ฝุ่น PM.2.5 ดูแลคุณภาพชีวิตของคน กทม.ให้ดีขึ้นกว่าเดิม จัดการขยะมูลฝอย จัดระเบียบสายไฟ สายอินเทอร์เน็ต สายเคเบิล สายโทรศัพท์ที่ยังเป็นปัญหาด้านทัศนียภาพของเมืองหลวง
 

รวมถึงการจัดระเบียบทางเท้า สิ่งกีดขวาง หรือชำรุด แก้ปัญหาผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และยกระดับกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว

ส่วนหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือก ผู้ว่าฯ กทม. ซีอีโอกว่า 68% ระบุว่า ต้องเป็นนักพัฒนา มีความทันสมัยในวิธีคิด ขณะที่ 58.2% ระบุว่า ต้องขยันทำงาน ซีอีโอ 55.2% ระบุ ต้องมีนโยบายดี ขณะที่ ต้องมีภาพลักษณ์ดี ซื่อสัตย์ ประวัติดี คิดเป็นสัดส่วน 51.5% นอกจากนี้ ยังมีซีอีโอ บางส่วนใช้เกณฑ์ เช่น เคยมีผลงานที่เด่นชัด ประสานได้ทุกด้าน ไม่มีอคติส่วนตัว 
 

ซีอีโอหนุน“ชัชชาติ” นักพัฒนา

การสำรวจครั้งนี้ สอบถามถึงผู้ว่าฯ กทม.ในดวงใจ ซีอีโอเกือบ 40% หนุน “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รองลงมา ศิธา ทิวารี 35.3%

ขณะที่ ยังไม่ตัดสินใจ มีสัดส่วนราว 12.6%  ส่วน  ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ส่วนลำดับรองลงมา คือ นายสกลธี ภัทธิยกุล และ นายอัศวิน ขวัญเมือง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครอื่นๆ นางรสนา โตสิตระกูล และมีราว 0.6% ระบุ จะไม่ไปเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ซีอีโอ ระบุว่า เลือกนายชัชชาติ เพราะเห็นถึงความตั้งใจ มีความรู้ ความสามารถ ทุ่มเท มีความเป็นมืออาชีพ มีนโยบายที่จับต้องได้ เป็นนักปฏิบัติ (practical man) ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเข้ามาแล้ว จะตั้งใจทำงานจริง ซื่อสัตย์ น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ กรุงเทพฯ ได้ 

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า นายชัชชาติ มีแนวคิดที่จะทำให้กรุงเทพดีขึ้นแบบเป็นไปได้ ที่สำคัญไม่มีความเป็นนักการเมืองเกินไป มีความรู้ มีมุมมองที่กว้าง

'ศิธา-สุชัชชวีร์' คนรุ่นใหม่ไฟแรง 

ส่วนเหตุผลของซีอีโอที่เลือก นายศิธา ทิวารี เพราะมีวิสัยทัศน์ดี เข้าใจคนกรุงเทพฯ นโยบายจับต้องเป็นจริงได้ ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ มีความคิดแตกต่าง นอกกรอบ มีประสบการณ์ในการทำงานระดับประเทศมาหลายสิบปี เป็นนักประสานงาน เข้ากับคนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย มีทีมงานที่แข็งแกร่ง มีนโยบายป้องกันน้ำท่วม

เหตุผลที่เลือก ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เพราะ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การบริหาร เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง คิดนอกกรอบ มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ บุคลิกดี ฉลาด เชื่อว่าจะใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามาแก้ปัญหา มีความตั้งใจ และคาดว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ อย่างชัดเจน 

ส่วนเหตุผลของ ซีอีโอ ที่เลือก นายสกลธี ภัทธิยกุล คือ เป็นคนรุ่นใหม่ รู้ปัญหา เข้าใจวิธีแก้ มีแนวทางที่ชัดเจน ทำได้จริง นโยบายชัดเจนเป็นไปได้จริง ขณะที่ เหตุผลของซีอีโอ (2.4%) ที่เลือก พล ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ด้วยเหตุผล ใจถึงพึ่งได้  

นอกจากนี้ ยังมีซีอีโอที่  “ยังไม่ตัดสินใจ” ส่วนใหญ่ระบุว่า เพราะยังไม่มีใครให้นโยบายที่ชัดเจน และแนวปฏิบัติที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า การหาเสียงของผู้สมัครในปัจจุบันส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกมากน้อยแค่ไหน ซีอีโอ 42.1% ระบุว่า มีผลมาก ขณะที่ 27.4% ระบุว่า ไม่มีผล ส่วน 22% ระบุค่อนข้างมีผล และ 8.5% ไม่มีผล 

เมื่อถามความเห็น ซีอีโอว่า ให้ความสนใจผู้สมัครแบบใด ระหว่าง “ผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง” กับ “ผู้สมัครอิสระ” พบว่า 44.8%ให้ความสนใจผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ 44.2% ให้ความสนใจ ผู้สมัครอิสระ 

เปิด 'ข้อเสนอแนะ" นักธุรกิจ

ทั้งนี้ ซีอีโอ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สำหรับผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เอาจริงและให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหา หากไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมๆ กันไม่ได้ ที่สำคัญต้องกล้าตัดสินใจ ไม่ใช้นโยบายที่เพ้อฝัน ต้องลงมือปฎิบัติทันที คลุกคลีกับชาวบ้าน ประสานงานได้ทุกฝ่าย ไม่นิ่งดูดาย ต้องคิดถึงกรุงเทพฯ มากกว่าตัวเอง และพวกพ้อง 

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน ใช้เทคโนโลยีให้ประชาชนมีความสะดวก สร้างรายได้ให้กรุงเทพฯ มีความเป็น กลางเข้าได้กับประชาชนทุก กลุ่มทุกแนวคิด ทุกสี ขจัดความไม่โปร่งใส ไร้คอรัปชั่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการทุจริตยังเป็นอีกเรื่องสำคัญ ดังนั้น ผูู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ควรต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ด้วย  และไม่ลืมแก้ปัญหาค่าครองชีพของคนตัวเล็ก หากเป็นไปได้ควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญที่ซีอีโอ เน้นย้ำ คือ การคิดต่าง แก้ปัญหาให้ตรงจุด เปิดทางร่วมกับสตาร์ทอัพเพื่อแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

"ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ควรต้องเร่งกำหนดแผน แก้ไขน้ำท่วมกรุงเทพฯ เปิดโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการค้าและบริการ ทุกสี่แยกต้องสะอาด มีความปลอดภัย พยายามทำให้เงินสะพัดเพื่อกระจายมาสู่คนตัวเล็ก สร้างเป็น walking street เพิ่มโอกาส และเพิ่มมูลค่าให้เมืองหลวง" 

สิ่งสำคัญที่ซีอีโอ เน้นย้ำมากเช่นกัน ในการสำรวจครั้งนี้ คือ ต้องลงมือทำงานอย่างเร็ว ตั้งใจจริง และไม่เล่นการเมืองมากจนเกินไป ทำตามนโยบายหาเสียงโดยไม่อยู่ใต้อิทธิพล