ตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสใหม่การค้าไทย

ตลาดคาร์บอนเครดิต  โอกาสใหม่การค้าไทย

TGO ชี้ตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสใหม่ทางการค้าของไทย เร่งวางกลไกหวังศูนย์กลางซื้อขายโลก ด้านทช.ชี้บทบาททะเล-ชายฝั่งกับการดูดซับคาร์บอน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า สังคมคาร์บอนต่ำเป็นกระแสโลกที่ไม่เปลี่ยนตามไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูว่าจะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไรแล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งหากทำได้ดีจริง ๆ จนมีส่วนเหลือสามารถเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้ใหม่ ตลอดจนอาจเป็นโอกาสใหม่ธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจสีเขียวต่าง ๆ

เมื่อเป้าหมายคือลดการปล่อยคาร์บอน จึงต้องทำให้การปล่อยคาร์บอนต้องมีราคาหรือต้นทุน อาจจะเป็นมาตรการภาษี ใครปล่อยมากก็เสียมาก อีกวิธีหนึ่งคือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเกณฑ์กลางไว้ ใครปล่อยเกินค่ากลางนี้ต้องเสียค่าปรับ ส่วนใครที่ปล่อยน้อยกว่า สามารถเอาส่วนเหลือเป็นเครดิตมาขายหรือแลกเปลี่ยนแก่รายที่ปล่อยเกินได้ ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน(Carbon Trading System) ขึ้นเดิมการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเครดิตคาร์บอน ทำให้อุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสนับสนุนให้คนทำกิจกรรมที่สร้างผลดีให้เอามาเครดิตได้ เช่น กิจกรรมปลูกป่า ลดขยะ เปิดให้ตลาดคาร์บอนขยายขึ้นโดยให้แลกเปลี่ยนกันข้ามอุตสาหกรรมได้ด้วย

“วันนี้เราได้พัฒนามาตรการฐานวัดที่เป็นมาตรฐานสากล และต้องติดตามศึกษาและพัฒนาการวัดเทียบเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่แต่ละประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจจะออกมาเรื่องคาร์บอนฟุตปรินท์ เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อใช้ตรวจวัดกับธุรกิจไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้เองแล้ว เมื่อจะส่งไปขายในอียูไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก ดังนั้น ต่อไปทุกคนต้องลดการปล่อยคาร์บอนหมด อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะสามารถแข่งขันได้ดีกว่า ต่อไปต้องแข่งกันตรงนี้”

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า เป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20 - 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน ซึ่งการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง คือ การปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

“องค์การค้าโลก ระบุชัดเจน ว่า การปลูกป่า ซึ่งป่าชายเลนจะช่วยในการคิดคำนวณลดคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมากประมาณ 5 เท่า มากกว่าป่าบกซึ่งมีจำนวนแค่ 1 เท่า (1 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี)ปัจจุบันการคิดคำนวณของประเทศไทย มีอยู่ 2.75 เท่า ซึ่งตอนนี้ทางกรมกำลังแต่งตั้งนักวิชาการร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกในการประเมินค่าคาร์บอนเครดิตใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มได้มากกว่า 5 เท่า หรือ 5 ตัน คาร์บอนต่อไร่ต่อปี นี่คือการคิดคำนวณที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”