“เบทาโกร”จัดทัพวางธุรกิจ โตรับความท้าทายโลกอนาคต

“เบทาโกร”จัดทัพวางธุรกิจ  โตรับความท้าทายโลกอนาคต

การแพร่ระบาดของโควิด- 19และ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เบทาโกร พัฒนาระบบผลิต เพื่อตอบโจทย์ใหม่ในโลกแห่งอนาคต

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 บริษัทมียอดรายได้จำนวน 8.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6%รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศที่มีการขยายกำลังการผลิตทั้งในสปป.ลาวและกัมพูชา

 

“เบทาโกร”จัดทัพวางธุรกิจ  โตรับความท้าทายโลกอนาคต

 

สำหรับปี2565 แม้ยังมีปัจจัย กดดัน ทั้งเงินเฟ้อ พลังงาน ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าปศุสัตว์ และความต้องการของผู้บริโภคก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเบทาโกร ยังคาดว่ายอดขายทั้งปี 2565 จะเติบโตมากว่า 6.6 % อีกทั้งการลงทุนของเบทาโกรยังมีต่อเนื่อง ปีละ 5,000 ล้านบาท

ด้านในประเทศนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองการผลิตอาหารสัตว์ในโรงงานแห่งใหม่ ที่ อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา จะส่งผลให้เบทาโกรมีกำลังการผลิตมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแปรรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและขยายการลงทุนในต่างประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ทั้งในส่วนของโรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์ม ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรบริหารจัดการฟาร์มที่ปลอดภัย การนำระบบการขายสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพ เป็นต้น

 

 ในขณะที่มีความสนใจการลงทุนด้านโปรตีนทางเลือก ร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพในต่างประเทศ โดยมองว่าเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็ง ที่ตอบโจทย์ของตลาดในอนาคต

 

ส่วนปัญหาเฉพาะหน้า อย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์นั้นคาดว่าจะไม่แพงไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการเก็บสต็อกไว้เพียงพอแล้ว

“เบทาโกร”จัดทัพวางธุรกิจ  โตรับความท้าทายโลกอนาคต

เช่นเดียวกับ ผลกระทบกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบกับฟาร์มของเบทาโกร เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตาม โรคระบาดในสัตว์ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อรวมกับความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมอย่างต่อเนื่อง

บริษัทจึงวางกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “POWERING CHANGE” ด้วยการผนึกกำลังทั้งองค์กรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น

โดยมีกรอบการขับเคลื่อนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่  Supply Chain Resilience: การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อลดผลกระทบ ต่อธุรกิจ และสร้างโอกาสจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและ ปศุสัตว์

 

Digital Transformation: การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งยกระดับสู่เป้าหมาย Smart Transformation อย่างเต็มรูปแบบ ผ่าน 6 module ประกอบด้วย Big Data, Smart CRM, Smart Farm, Smart Factory, Smart Operation และ Smart Quality เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า คู่ค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

People Transformation: การปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น High Performing Organization เพื่อพัฒนาทักษะในด้านดิจิทัลและดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้เด่นชัดขึ้น  New Business: การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด

 

และ Sustainability: การร่วมสร้างคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG ของสหประชาชาติ