รัฐบาล “เป็ดง่อย” ล้านล้านสะดุด เข้าโหมดเพลย์เซฟ 10 โปรเจคติดหล่ม

รัฐบาล “เป็ดง่อย” ล้านล้านสะดุด เข้าโหมดเพลย์เซฟ 10 โปรเจคติดหล่ม

รัฐบาลยื้อสารพัดโปรเจค แก้สัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบินไม่คืบ ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ท่อน้ำอีอีซี ยื้อตรวจสอบทุจริตก่อสร้างรัฐสภา ยืดเวลาเคาะดีลทรู-ดีแทค นักวิชาการชี้ปีสุดท้ายรัฐบาลเข้าโหมดเพล์เซฟ ประคองให้ครบเทอม “เอกชน” ห่วงหลายโครงการล่าช้าฉุดศักยภาพประเทศ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดปัจจุบันถูกจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2562 ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยหลายโครงการที่บริหารต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งบางโครงการยังไม่ได้ข้อสรุปแม้จะเข้าสู่ช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล โดยโครงการที่ยังติดปัญหาหรือเคยติดปัญหาจนล่าช้า 10 โครงการ ที่มีมูลค่าโครงการรวมกว่าล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1.การต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS อีก 30 ปี ซึ่งเรื่องนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่มีการตั้งคณะกรรมการเจรจากับเอกชน และมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 8 ครั้ง ล่าสุดวันที่ 29 มี.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครทำความเข้าใจแก้ปัญหาข้อกฎหมายก่อนเสนอ ครม.อีกครั้ง

2.การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอเชียเอรา วัน จำกัด ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือหุ้นใหญ่ ลงนามเมื่อ 24 ต.ค.2562 แต่เริ่มก่อสร้างไม่ได้ เพราะติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงเอกชนคู่สัญญาขอมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ทำให้ต้องเข้าสู่การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

รัฐบาล “เป็ดง่อย” ล้านล้านสะดุด เข้าโหมดเพลย์เซฟ 10 โปรเจคติดหล่ม

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกประกวดราคาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 และมีการฟ้องร้องจากผู้ยื่นซองประมูลกรณี รฟม.ปรับหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง และชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุดังกล่าวยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับเอกชน ทำให้ รฟม.เริ่มขั้นตอนการประมูลใหม่

4.กรณีข้อพิพาทบริเวณที่ดินเขากระโดงจ.บุรีรัมย์ กลายเป็นประเด็นเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ร.ฟ.ท.ชนะคดี โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่ ร.ฟ.ท.นำเสนอว่าพื้นที่เขากระโดง 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ ร.ฟ.ท.แต่คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ จะนำไปบังคับที่ดิน 5,083 ไร่ ไม่ได้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของ ร.ฟ.ท.แต่จะไม่ฟ้องประชาชน โดยรอคำพิพากษาศาลปกครอง และได้ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 และยังยื่นเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงิน 700 ล้านบาทกับกรมที่ดิน

5.ปมควบแสนล้าน 'ทรู-ดีแทค" การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังควบรวมกิจการ คาดว่าจะมีรายได้ 2.17 แสนล้านบาท มากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และประเมินส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 40% 

ส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดโฟกัสกรุ๊ปครั้งแรกวันที่ 9 พ.ค.2565 เพื่อรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชน

6.การจัดเก็บภาษีหุ้น หลังจากโควิด-19 ทำให้ฐานะการคลังลดลงเพราะเก็บรายไม่ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงหาแหล่งจัดเก็บรายได้ใหม่ และมีแนวคิดเก็บภาษีขายหุ้นเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง โดยมีแผนเริ่มใช้ปี 2565 หลังจากภาษีนี้ถูกยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งจะเก็บภาษีหุ้นในอัตรา 0.1% นับตั้งแต่บาทแรก ซึ่งมีเสียงคัดค้านจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

7.ปัญหารัฐสภาใหม่ 9 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” หรือ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ถูกตั้งคำถามทั้งเรื่องการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ โดยขยายสัญญา 4 ครั้ง รวม 3,188 วัน จากเดิม 900 วัน

จนเป็นคำถามสำคัญ กรณีที่คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติไม่ขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5 ให้บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) การก่อสร้างจึงสิ้นสุดสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2563 และต้องเรียกค่าปรับจากเอกชนคู่สัญญาวันละ 12 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 แต่ยังไม่มีคำตอบว่า ซิโน-ไทยฯ ได้จ่ายค่าปรับให้รัฐสภาแล้วหรือไม่ เช่นเดียวกับความคุ้มค่ากับงบที่เดิมตั้งไว้ 12,280 ล้านบาท แต่บานปลายถึง 22,987 ล้านบาท และถูกยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบทุจริตไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง

8.โครงการเรือดำน้ำลำแรก ไร้เครื่องยนต์ ความไม่คืบหน้าการแก้ปัญหาเรือดำน้ำลำแรก ขาดเครื่องยนต์ เรือดำน้ำลำนี้ของกองทัพเรือ มูลค่า 13,500 ล้านบาท จ่ายค่างวดไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท จนมาถึงงวดล่าสุดที่ต้องจ่ายกว่า 6,000 ล้านบาท แต่บริษัท CSOC ของจีน ซึ่งเป็นผู้ขายเรือดำน้ำให้ไทย ยังส่งมอบงานไม่ได้ กองทัพเรือจึงเบิกเงินงวดไม่ได้

ปัจจุบัน การก่อสร้างหยุดชะงัก ขณะที่บริษัท CSOC ยังไม่ตอบรับคำเชิญของกองทัพเรือ เพื่อมาชี้แจงผลการเจรจาขอซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี มาติดตั้ง รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีไม่สามารถจัดหาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท CSOC อ้างปัญหาเรื่องโควิด-19 ทำให้กำหนดการเดิมที่จะหารือในเดือน เม.ย.2565 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไร้กำหนด จนล่วงเลยมาถึง พ.ค.นี้

9.ท่อส่งน้ำภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ โดยบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ร้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 

ในขณะที่กรมธนารักษ์อนุมัติให้บริษัทวงษ์สยาม จำกัด ชนะประมูลจากการเสนอผลตอบแทนรัฐ 25,693 ล้านบาท ในช่วง 30 ปี ล่าสุดกรมธนารักษ์เลื่อนลงนาม และนายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

10.โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 วงเงิน 273,701 ล้านบาท โดยปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้กระทรวงคมนาคมปรับงบประมาณให้สอดคล้องสถานการณ์ และปี 2565 รอการประมูล 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,488 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย , เด่นชัย-เชียงใหม่ , ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ , ขอนแก่น-หนองคาย , ชุมพร-สุราษฎร์ธานี , สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา , ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

มุมมองของนักวิชาการ ต่อความเป็นไปของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในช่วงเทอมสุดท้าย ผลงาน การบริหาร และปัจจัยสำคัญ ที่รัฐบาลจะอยู่ได้จนครบเทอมหรือไม่นั้น

ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นักวิชาการคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า หลายเรื่องรัฐบาลออกอาการเพลย์เซฟ ทั้งลดกระแส โครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี หรือกรณีที่เดินหน้าแบบมีเงื่อนงำ เช่น การเห็นชอบข้อตกลงที่มีผลต่อคดีฟ้องร้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลชี้แจงได้ในข้อกฎหมาย และอธิบายสังคมได้แต่ขึ้นกับรัฐบาลเลือกอธิบายหรือไม่

“ในมุมบริหารราชการแผ่นดิน หากไม่มีประเด็นที่เป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง ครอบครัวนายกฯ ทุจริต ประพฤติผิดร้ายแรง ยังเชื่อว่า ลำพังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบริหารงานแผ่นดินนั้นไม่ทำให้รัฐบาลเกิดปัญหา” ศ.ดร.ชาติชาย ระบุ

ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวว่า โดยธรรมชาติของรัฐบาลชุดต่างๆ ต้องการอยู่ให้ครบวาระหรือครบเทอม และในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้งประคองตัวให้อยู่รอด ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านเอง ต้องแสดงอาการการย้ายขั้ว การจับมือฝ่ายต่างๆ รวมถึงแสดงผลงานของตัวเองเพื่อให้มีน้ำหนักในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อหวังจะกลับมาเป็นรัฐบาล

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลปัจจุบันมีปัญหาสำคัญของ พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่มีความแตกแยก แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความไม่ลงรอยกัน และคล้ายกับมีดีลกับพรรคเพื่อไทยไว้ล่วงหน้า เพื่อจับมือเป็นรัฐบาลสมัยหน้า

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลจะอยู่ได้จนครบเทอมหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ ปลายเดือน พ.ค.จะมีวาระให้ต้องจับตา คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 การอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งสำคัญคือต้องดูเสียงโหวต รวมถึงจับตาสภาล่ม หรือ แพ้โหวตหรือไม่

สิ่งที่จะบั่นทอนรัฐบาลได้มาก คือ กรณีที่สภาฯ ไม่ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ ดังนั้นเกมการเมืองที่จะสะเทือนถึงการประคองวาระรัฐบาลให้ไปรอดฝั่งสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ เสียงในสภาฯ ดังนั้นสิ่งที่อาจเห็นหลังจากที่สภาฯเปิด คือ การต่อรองที่มากขึ้น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมชาติ

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ยังมองด้วยว่าการเมืองในสภาฯ ฝั่งรัฐบาล ยังได้เปรียบ แม้จะมีคนของพรรคพลังประชารัฐ อย่างพิเชษฐ สถิรชวาล จับมือกับฝ่ายค้าน แต่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวหนึ่งเท่านั้น หรือ กรณีพรรคเล็กร่วมรัฐบาลที่เคลื่อนไหว เพราะไม่พอใจนายกรัฐมนตรีจริงๆ ทำให้การเคลื่อนไหวนั้นมีเจตนาแอบแฝง แต่เชื่อว่ารัฐบาลยังคุมได้ เว้นแต่มีประเด็นอื่น เช่น ส.ส.ลาออกในช่วงเดือน ก.ย.ที่อายุของสภาฯ เหลือไม่ถึง 180 วัน หรือ 6 เดือน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (1) กำหนดว่า ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ ส.ส.อยากย้ายพรรค อยากเปลี่ยนขั้ว เกมการคุมเสียงในสภาอาจทำได้ยาก

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าฯ กล่าวถึงจุดเด่นและข้อด้อยของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้พูดยากเพราะว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแบบปกติ เนื่องจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เรียกว่าเข้ามาบริหารวิกฤติมากกว่า แต่ก็บริหารวิกฤติโควิด-19 แค่พอไปได้ โดยเฉพาะ 2 ปีหลังที่เห็นว่า เรารอดมาเรื่อย ๆ อาจไม่ได้เจ็บหนัก เศรษฐกิจไม่ได้ล่มสลาย แต่ว่าบาดแผลก็เยอะ เรียกได้ว่าพอได้ แต่ดีไม่พอ

ส่วนปีสุดท้ายในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ มีการอัดโครงการประชานิยมต่าง ๆ ดร.สติธร มองว่า“นโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดนี้ มันโครงการต่อเนื่อง เลยเป็นที่มาของโครงการเฟสต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่เป็นเพียงแค่ตัวเลี้ยงไข้ เลี้ยงกระแสเฉย ๆ เชื่อว่า ถ้าใกล้ถึงจังหวะที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ เช่น ยุบสภาหรืออยู่ครบเทอม มีเลือกตั้งใหม่แล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการเศรษฐกิจแบบประชานิยมหนักกว่านี้”

เอกชนชี้ล่าช้าฉุดศักยภาพประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายเรื่องจึงคาดหวังให้รัฐบาลตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วตามสถานการณ์ โดยรีบผลักดันการตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดยิ่งทอดเวลาออกไปเท่าไหร่จะเกิดความเสียหายและเป็นต้นทุนที่ภาคเอกชนและประชาชนต้องแบกรับเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งยังลดศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับภาพรวมในปีนี้มองว่าภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ หลังวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่ดันให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น อีกทั้งการเกิดซัพพลายเชนช็อกจากมาตรการซีโรโควิดของจีน ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและสินค้าเทคโนโลยีขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรมีแนวทางการรับมือให้ชัดเจนมากขึ้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่รัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนี้ เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนโดยเร็วเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และฟื้นฟูการท่องเที่ยว

รวมทั้งการดูแลลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากปัญหาราคาพลังงานและสินค้าที่สูงขึ้น โดยดังนั้นรัฐบาลต้องช่วยชะลอผลกระทบและดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนั้น ควรกำหนดมาตรการเยียวยาให้ถูกจุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะนี้ภาคเศรษฐกิจยังต้องการมาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากขยายโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ในวงเงิน 1,500 บาท ก็จะช่วยให้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินมากขึ้น