เปิดโครงการ EEC สู่การเป็น "ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร" ของภูมิภาค

เปิดโครงการ EEC สู่การเป็น "ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร" ของภูมิภาค

ความคืบหน้าของโครงการด้านการแพทย์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังเข้าสู่ระยะการดำเนินงานที่เห็นเป็นรูปธรรม ตามแผนโรดแมปที่วางให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินนโยบายและโครงการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยได้มีการกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) และศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน (EECg) 

เพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการออกแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนรายบุคคล เพื่อสร้างต้นแบบการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

เดินหน้าแผนการแพทย์
ความคืบหน้าในพื้นที่ EECmd ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือกับภาคีภาครัฐและเอกชน 25 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการแพทย์และวิศวกรรมด้านเฮลธ์เทค (Health Tech) เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น "Medical Valley" โดยมีการออกแบบพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านบริการและด้านที่พักอาศัย

ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการสำคัญ ได้แก่ สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง, โรงพยาบาลดิจิทัล, ศูนย์ดูแลสุขภาพ (Wellness Health Resort), ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Senior Living) และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ (Sport Complex) 

ทั้งนี้ ในพื้นที่ EECmd ได้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนเป็นเวลา 11-13 ปี รวมทั้งการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยในประเทศไทย โดยมี สกพอ. ร่วมสนับสนุน และองค์กรพันธมิตรด้านสาธารณสุขที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย สร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่หมุนเวียนสู่เศรษฐกิจ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการต่อยอดผลิตภัณฑ์และใช้บริการของชาวต่างชาติได้ในอนาคต
 

ขณะเดียวกัน พื้นที่ EECg ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ เป็นศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลับบูรพา (บางแสน) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลสร้าง Big Data ห้องสมุดดีเอ็นเอ รวมทั้งจะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์

โดยเริ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมกลุ่มตัวอย่าง 200 รายแรกแล้ว ในวันที่ 18 เม.ย.2565 ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นศักยภาพและการเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ 

ปัจจุบัน ใช้ระยะเวลา 7 วัน ในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอตัวอย่าง 200 ราย ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพื่อรองรับปริมาณการตรวจสอบตัวอย่างอีเอ็นเอที่เพิ่มขึ้น โดยความพร้อมในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจะดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งต้องการส่งดีเอ็นเอเข้ามาตรวจและใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อทดลองและพัฒนายากับยีนส์ของคนไทย สำหรับแผนดำเนินการในระยะต่อไป อยู่ระหว่างการศึกษาความร่วมมือในการแปลผลข้อมูลเพื่อรักษาโรคมะเร็งและโรคหายากในเด็กแรกเกิด

นอกจากนี้ สกพอ. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้ง “ศูนย์ซ่อมบำรุงและทดสอบเครื่องมือแพทย์ครบวงจร” เพื่อรองรับงานซ่อมบำงรุงเครื่องมือแพทย์ทุกประเภททุกยี่ห้อ ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในประเทศ ให้เกิดดีมานต์การทำงานที่ซับซ้อนและส่งเสริมให้บุคคลากรไทยมีความเชี่ยวชาญสูงขึ้น รองรับธุรกิจการร่วมผลิตเครื่องมือแพทย์ในไทย เพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรให้เป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เพื่อให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การผลิตยาและชีวเวชภัณฑ์ การปลูกถ่ายอวัยวะ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบการรักษาพยาบาลทางไกล พร้อมกับการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้มีรายได้ดี

ต่อไปในอนาคต การพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะดึงดูดให้นักธุรกิจ นักลงทุน แรงงาน และนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่อย่างหนาแน่น คาดว่าภายในปี 2580 พื้นที่อีอีซีจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งการเตรียมความพร้อมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างยั่งยืน พร้อมกับการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนให้กับพื้นที่อีอีซี