เปิดสาระประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ดันฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

เปิดสาระประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ดันฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกแบบพบปะกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 วันที่ 19-22 พ.ค.นี้ เผยไฮไลท์สำคัญร่วมผลักดันทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก ดันโมเดล BCG

เอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา โดยปีนี้ไทยรับเป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศนิวซีแลนด์  โดยในช่วงปลายปีวันที่ 18-19 พ.ย.นี้จะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำเอปค ซึ่งผู้นำสมาชิกเอเปคก็จะเดินทางมาร่วมประชุมที่ไทย

ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ก็จะมีการประชุมอเปคในระดับต่าง ๆตลอดปี 2565 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านจะรับเป็นเจ้าภาพการประชุม ในด้านการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอเปค กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคหรือMRT (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) ซึ่งได้กำหนดการประชุมในระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. ที่โรงแรม Centara Grand and Bangkok Convention Centre at Central World กรุงเทพฯ  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า  ตลอดช่วง 4 วันนี้จะมีการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของไทย มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และในครั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค จะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมเป็นครั้งแรกแบบปะกันในรอบ 3 ปี นับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 
 

สำหรับกำหนดการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากวันที่ 19 พ.ค. 2565 จะมีการสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตร และประชาชน ได้รับทราบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวในเอเปค ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ซึ่งปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ตั้งแต่ปี 2551 และล่าสุดปรากฏในวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี ค.ศ. 2040 (2583) โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการค้าการลงทุน การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยจะทำให้ทราบมุมมองของเกี่ยวข้องในเรื่อง FTAAP ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและคำนึงถึงบริบทการค้าใหม่ๆ ซึ่งยิ่งต้องผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง FTAAP เร็วขึ้น เพราะจะช่วยให้เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นและมีแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต

วันที่ 20 พ.ค. 2565 งานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ ในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยจะจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG Economy เพื่อมุ่งหวังให้ MSMEs มีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรม สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้

วันที่ 20 พ.ค. 2565 กิจกรรมประกวด APEC Mobile App Challenge โดยไทยในฐานะเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ Asia Foundation บริษัท Google และสำนักงานเลขาธิการเอเปคเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยรับสมัครผู้สนใจจากเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เข้าแข่งขันทีมละ 2 คน เพื่อประกวดนำเสนอการออกแบบ Mobile Application ภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยโจทย์ของปีนี้คือการสร้าง Application ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้ประกอบการกับตลาด รวมถึงระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยเน้นส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ดำเนินรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่แนวคิดสีเขียว การมีส่วนร่วมและการเติบโตอย่างยั่งยืนในการเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น ทางออนไลน์มากขึ้น โดยผู้ชนะที่ 1 จะได้เงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์หรือ 132,000 บาท รางวัลที่ 2 รางวัลละ 3,000 ดอลลาร์หรือ 99,000 บาท และรางวัลที่  2,000 ดอลลาร์ หรือ66,000 บาท  ตามลำดับ จากมูลนิธิ Asia Foundation และ Google

ส่วนไฮไลท์ ของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ประกอบด้วย 3 วาระสำคัญ คือ ในช่วงเช้าของวันที่ 21 พ.ค. 2565 เป็นการหารือระหว่างผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่การเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19

ต่อด้วยช่วงบ่ายจะเป็นการรับทราบความคาดหวังของผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในเรื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มิ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคในเรื่องระบบการค้าพหุภาคี และความคาดหวังที่มีต่อการประชุม MC12

ส่วนวันที่ 22 พ.ย. 2565 รัฐมนตรีการค้าเอเปคจะหารือเรื่องการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 วาระการประชุมจะสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย “Open. Connect. Balance.”

การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ถือเวทีการค้าระดับโลกที่ประเทศสมาชิกเอเปคจะร่วมกันกำหนดทิศทางทางการค้าและการลงทุน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของสมาชิกให้ขับเคลื่อนต่อไป