'นักวิชาการ'แนะไทยสร้างสมดุลรับมือ จีน - ญี่ปุ่น ขยายอิทธิพลเศรษฐกิจ

'นักวิชาการ'แนะไทยสร้างสมดุลรับมือ จีน - ญี่ปุ่น ขยายอิทธิพลเศรษฐกิจ

นักวิชาการอิสระแนะไทยสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนและญี่ปุ่นมุ่งประโยชน์การลงทุน หลังการคว่ำบาตรลากยาว สองชาติเร่งขยายอำนาจ อิทธิพลทางเศรษฐกิจในอาเซียน

สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทางภูมิรัฐศาสตร์รวมทั้งการคว่ำบาตรที่ขยายวงไปในหลายประเทศทำให้ส่งผลต่อเนื่องในทางเศรษฐกิจรวมทั้งการค้าการลงทุนส่งผลให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ในทางยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะได้รับผลกระทบ

ล่าสุดนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่าง 1 - 2 พ.ค. 2565 หลังจากที่เดินทางไปยังประเทศอินโดนิเซีย และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต่างเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน โดยในการเดินทางมายังประเทศไทยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรีไทยได้มีการหารือกันใน 6 ประเด็นครอบคลุมเศรษฐกิจ การทหาร และความมั่นคง รวมทั้งมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 3 ฉบับ ได้แก่

1. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น

2. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

และ 3. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองระหว่างประเทศกล่าวว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งและมีการรุกรานเข้ามาในยูเครนของรัสเซีย และสถานการณ์มีความยืดเยื้อรุนแรงขึ้นตามลำดับ ทำให้ญี่ปุ่นเองมีข้อกังวลในสถานการณ์บริเวณทะเลจีนตะวันออกมากขึ้น เนื่องจากเดิมนั้นมีข้อพิพาทกับจีนอยู่และมีสถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันที่ญี่ปุ่นเองจับตาดูสถานการณ์เพราะจะกระทบกับญี่ปุ่นได้สอดคล้องกับแนวนโยบายของนายกญี่ปุ่นคนใหม่ที่ขึ้นมาพร้อมกับแนวความคิดเรื่องการสร้างความเข้มแข็งทางการทหารของญี่ปุ่นมากขึ้น

เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนจะทำให้การแข่งขันกันสร้างพันธมิตรระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยจีนนั้นจะดำเนินการผ่านกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)ขณะที่ญี่ปุ่นจะเร่งการสร้างความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกซึ่งเป็นแนวคิดที่ญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการริเริ่มขึ้น ก่อนที่สหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะนำไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดยกรอบความร่วมมือนี้ มีสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดียได้ตกลงที่จะสร้างความร่วมมือร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อถ่วงดุลกับข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จีนเป็นประเทศสำคัญที่จีนนำเสนอขึ้นตั้งแต่ปี 2012

 

ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เนื่องจากเราอยู่กึ่งกลางในการแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในภูมิภาคหากมองในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและจีนมีความสัมพันธ์กับไทยผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งอินโดแปซิฟิก และ RCEP ทั้งอาเซียนบวก6เขตการค้าเสรี(FTA)ส่วนการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจีนมีความก้าวหน้าและได้เปรียบโดยรุกเข้ามาในภูมิภาคด้วยรถไฟความเร็วสูงจากตอนใต้ของจีนมาถึงเวียงจันทน์ในสปป.ลาวและจะมาเชื่อมต่อกับไทยที่จ.หนองคายทำให้เส้นทางรถไฟนี้เชื่อมโยงมาได้ถึงท่าเรือในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)ได้ในอนาคตรวมทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้ามาถึงกทม.ทำให้การเชื่อมโยงจากเกตเตอร์เบย์แอเรียกับ 11 มณฑลจากจีนมายังไทยมีรูปธรรมมากขึ้น

ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีแผนในการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาในประเทศไทยโดยแผนเดิมคือการเชื่อมผ่านระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตกจากทวายในเมียนมามายังจ.กาญจนบุรีและเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้รวมทั้งเคยมีแผนในการทำรถไฟความเร็วสูงจากกทม.ไปยังเชียงใหม่แต่โครงการยังไม่ได้มีการเดินหน้าต่อในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานเนื่องจากโครงการทวายในเมีียนมานั้นยังไม่มีความคืบหน้า และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ผลการศึกษาอาจไม่คุ้มทุน

ส่วนที่จีนได้วางแผนไว้ถือว่ามีความคืบหน้าได้มากกว่าซึ่งญี่ปุ่นเองก็กำลังเร่งรัดโครงการต่างๆในส่วนนี้ควบคู่ไปกับการสร้างอิทธิพลในทางภูมิภาคให้มากขึ้นเห็นได้จากความร่วมมือที่เข้ามาหารือกับรัฐบาลไทยที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของความช่วยเหลือทางการเงินการถ่ายโอนเทคโนโลยีทางการทหารและการสนับสนุนเรื่องการลงทุนเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ก็ตอบโจทย์ความต้องการของญี่ปุ่นเองที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

“การเดินทางไปในหลายประเทศของนายกฯญี่ปุ่นในอาเซียนเห็นได้ว่าญี่ปุ่นต้องการพันธมิตรที่ไว้ใจได้ในภูมิภาคขณะที่จีนเองก็ยังเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องสิ่งที่ไทยต้องใช้คือยโยบายการรักษาระยะห่างอย่างเท่าเทียมคือไม่ห่างไม่ใกล้จนเกินไปคือเราต้องรักษาสมดุลไม่อยู่ใต้อิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่การค้าและการลงทุนได้มากกว่าในระยะยาว”

สำหรับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ในการเดินทางไปร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯในวันที่ 12 - 13พ.ค.นี้จำเป็นที่จะย้ำจุดยืนที่สมดุลย์ของไทยต่อไปโดยถึงแม้เราจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ(UN)โดยเรามีการแถลงการณ์ร่วมในการประนามการรุกรานยูเครนของรัสเซียแต่ไทยไม่ได้เข้าร่วมการคว่ำบาตรรัสเซียและการร่วมข้อตกลงหรือแถลงการณ์ต่างๆในขณะนี้จำเป็นต้องทำในกรอบของอาเซียน

ขณะที่การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศระยะต่อไปจะต้องทำใน3เรื่องคือ

1.การค้าและการลงทุนต้องกระจายไปยังหลายประเทศไม่พึ่งพาการค้าการลงทุนในประเทศใดมากจนเกินไปเพราะหากเกิดภาวะสงครามหรือการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้นจะกระทบตลาดส่งออกหรือการลงทุนที่จะมายังประเทศไทยได้

2.ประเทศไทยไม่ควรลงนามความตกลงโดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะแต่ให้ดำเนินการในกรอบอาเซียนเนื่องจากอาเซียนมีกรอบที่ดีคือการรักษาความเป็นกลางไม่เข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

และ3.ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งในขั้วอำนาจสูงประเทศไทยไม่ควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนในทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อรักษาท่าทีเป็นกลางซึ่งมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากกว่า