"ศุภชัย" ชี้สตาร์ทอัพจะเป็นกุญแจเร่ง Digital Transformation

"ศุภชัย" ชี้สตาร์ทอัพจะเป็นกุญแจเร่ง Digital Transformation

"ศุภชัย เจียรวนนท์" เผยการพัฒนาคนให้พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีใช้งบ 70,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Digital Transformation” ในงานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “Enhance the Dots” ว่า ความท้าทายของโลกในปัจจุบันมีมากกว่าเรื่องของ Digital Transformation หรือ "การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัล" ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด นับตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งของขั้วอำนาจโลก การตระหนักถึงภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการบังคับกฎระเบียบและการใช้แรงจูงใจมหาศาล รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังทำให้เกิดความขาดแคลนและสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของโลก นำไปสู่การเกิดภาวะ "ไฮเปอร์อินเฟลชั่น" จากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและความขาดแคลนของซัพพลายโลก ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยหลายคนให้ความหวังว่าการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จะเข้ามาช่วยบรรเทาและตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ ยกเว้นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยความท้าทายในอนาคตที่เรียกว่า "Inclusive Capital" หรือ "ทุนนิยมรอบด้าน" จะไม่ได้มองการเติบโตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่ยังต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย 

มุมมองความมมั่นคงที่เปลี่ยนไป
ในอดีตความมั่นคงจะอิงจากสิ่งที่มีค่ามากที่สุด นั่นก็คือ ทอง จากนั้นหลายประเทศเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับน้ำมันหรือพลังงาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แต่แล้วเมื่อการตะหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มเกิดขึ้นในวงกว้าง การใช้น้ำมันจะเริ่มลดน้อยลงหรือเลิกใช้ไปในอีก 30 ปีข้างหน้า เปลี่ยนมาเป็นการใช้พลังงานทดแทนอย่าง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ เปลี่ยนมาเข้าสู่ยุคของความมั่นคงใหม่ คือ เทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ Internet of Thing และสินทรัพย์ดิจิทัล 

ดังนั้น การต่อสู้และการแข่งขันต่อจากนี้จะมีเทคโนโลยีเป็นตัวชี้วัดว่าใครจะได้ขึ้นเป็นผู้นำโลก หรือมีผู้ใช้งานมากที่สุด  ยกตัวอย่างเทคโนโลยียานยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่นผลักดันรถยนต์ไฮโดรเจน ในขณะที่ยุโรป สหรัฐ และจีน ต่างขับเคลื่อนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ต่อไปการเมืองด้านเทคโนโลยีที่จะหนักข้อยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเคอเรนซีที่ยังต้องถกเถียงกันต่อเนื่องว่าจะยึดโยงกับมูลค่าของดอลลาร์ ยูโร หรือหยวน ขึ้นอยู่กับว่าครจะขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี

ก้าวสู่ฮับเทคโนโลยีของภูมิภาค
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยที่หนีไม่พ้นการแข่งขัน จะต้องเดินหน้าให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่งมั่งมี และสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาค เริ่มก้าวแรกที่การทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดเทคโนโลยีที่ตามมา อาทิ ซอฟต์แวร์ แบตเตอรี่ พลังทดแทน และอื่นๆ อีกมากมาย   

อย่างน้อยที่สุดต้องส่งเสริมและเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือคลาวด์เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดเรื่อง AI และ IoT ซึ่งมีความจำเป็นต่อระบบการดำเนินธุรกิจหรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยในอนาคต 

นอกจากนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างคือการพัฒนาคนโดยใช้วิธีที่เร็วที่สุด คือการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้น ยกตัวอย่าง 1 สตาร์ทอัพ จ้างงาน 50 คน หากตั้งเป้าให้เกิดสตาร์ทอัพ 20,000 สตาร์ทอัพ ใน 5 ปี จะทำให้เกิดกลุ่มคนที่เป็นนวัตกร วิศวกร ผู้นำที่มีความคิดเป็นเจ้าของกิจการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี กว่า 1,000,000 คน ซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ดิสรัปอุตสาหกรรมเดิมและช่วยให้เกิดการทรานส์ฟอร์มสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศที่ต้องการเร่งให้เกิดการก้าวหน้าด้านนวัตกรรมจะให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพ ดังเช่นที่เกาหลีใต้ผลักดันเรื่องดิจิทัลมีเดียคอนเทนต์ทั้งหมด รวมทั้งการพัฒนาเกมออนไลน์ เป็นการสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจในเทคโนโลยีโดยใช้เกมเป็นเครื่องมือ อีกทั้งยังเป็นการส่งออกเชิงวัฒนาธรรมมากมายจนโด่งดังและมีขนาดเศรษฐกิจที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก

"ดีที่สุดคือเริ่มเทรนให้เด็กใช้เทคโนโลยีเป็นตั้งแต่อยู่ชั้นประถม สร้างความคุ้นเคยในการค้นคว้าหาความรู้จากการใช้แท็บเล็ต ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม เด็กจะเกิดการซึมซับและมีทักษะด้านเทคโนโลยีได้อย่างเร็วแบบก้าวกระโดด ทั้งยังมีมุมมองความคิดที่พร้อมแก้ปัญหาที่คนยุคก่อนหน้าแก้ไม่ได้" 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะพาให้ไทยเป็นฮับด้านเทคโนโลยี คือการตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมหรือคลัสเตอร์นวัตกรรมที่เอกชนจับคู่กับสถาบันการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในวัยเรียนให้พร้อมเป็นรากฐานการสร้างนวัตกรรม 

จากการศึกษาการจัดตั้งคลัสเตอร์นวัตกรรม 5 แห่ง ในระยะเวลา 5 ปี จะใช้งบประมาณราว 70,000 ล้านบาทใน 5 ปี แบ่งเป็นการจ้างบุคคลากรทักษะสูง อุปกรณ์และเครื่องมือ และการทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งหากพิจารณาความคุ้มค่าของการลงทุนด้วยจำนวนเงินนี้ถือว่าไม่มากหากประเมินทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนนี้ 

การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่สำคัญยังรวมไปถึงด้านการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ และตลาดใหม่ อาทิ ด้านสุขภาพ ความรู้ ความกินดีอยู่ดี อีกทั้งการปรับเปลี่ยนระบบราชการสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้งของขั้วอำนาจโลก ไทยยังคงมีจุดยืนเป็นกลางและมุ่งให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ 

"ในความเปลี่ยนแปลง บริษัทที่ไม่ปรับตัวจะขาดทุนและปิดตัวลง บริษัทที่เสมอตัวแสดงว่าทำ Digital Transformation สำเร็จ บริษัทที่เติบโตและกำไรเพิ่มต่อเนื่องคือ Tech Company ประเทศก็ไม่ต่างกัน" นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย