FETCO ลุ้นครึ่งปีหลัง “หุ้นไทย” ขาขึ้น ฟันด์โฟลว์จ่อไหลเข้า-ท่องเที่ยวฟื้น

FETCO ลุ้นครึ่งปีหลัง “หุ้นไทย” ขาขึ้น ฟันด์โฟลว์จ่อไหลเข้า-ท่องเที่ยวฟื้น

“เฟทโก้” มองระยะสั้น “หุ้นไทย” ผันผวนจากปัจจัยลบ “สงครามรัสเซียและยูเครน-เฟดขึ้นดอกเบี้ยฉับพลัน” แต่กลับสู่ “ขาขึ้น” ครึ่งปีหลัง ขานรับเปิดประเทศท่องเที่ยวฟื้นตัว-จีนคลายล็อกดาวน์ ฟันด์โฟลว์เริ่มเห็นสัญญาณไหลออกสหรัฐ-ยุโรป เหตุลดเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือน เม.ย.65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.42 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุดคือ ความกังวลสงครามรัสเซีย-ยูเครน รองลงมาคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเก็บภาษีจากการขายหุ้น

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนในระยะสั้น จากปัจจัยเสี่ยงภายนอก แต่คาดว่าจะกลับมาเป็น "ขาขึ้น" ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เนื่องจากอานิสงส์การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แนวโน้มการคลายล็อกดาวน์ของจีน และการแข็งค่าของเงินบาท สะท้อนผ่านเริ่มเห็นสัญญาณเม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หรือ Developed Markets เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets เพื่อลดความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรป ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย

 ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมองว่าปัจจัยบวกสำคัญของไทยคือ เสถียรภาพที่มั่งคงของเศรษฐกิจไทย บ่งชี้ผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สาธารณะยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยปลอดภัย รอเพียงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเท่านั้น 

สะท้อนผ่าน ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ และเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งซื้อสุทธิในเดือนเม.ย. 9,779.91 ล้านบาท และซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 118,120.26 ล้านบาท

นายไพบูลย์ กล่าวว่า  ส่วนปัจจัยลบที่กดดันหุ้นไทย ยังคงเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางสำคัญของโลก ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออีกนาน ซึ่งคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ในช่วง 2-3 เดือน ข้างหน้า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินล่าช้า ในการสกัดเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้นระดับ 9% หรือ สูงสุดในรอบ 40 ปี กดดันให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างฉับพลัน โดยมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 3.25-3.3% ในช่วงกลางปี 2566 

สำหรับการปรับลดสภาพคล่องจากมาตรการ QE มองว่าคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าที่ขนาดงบดุลของเฟดจะปรับลงมาเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเชื่อว่ากองทุนทั่วโลกน่าจะยังคงรักษาสัดส่วนที่ถืออยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่าง หุ้น ต่อไปอีกระยะหนึ่ง 

FETCO ลุ้นครึ่งปีหลัง “หุ้นไทย” ขาขึ้น ฟันด์โฟลว์จ่อไหลเข้า-ท่องเที่ยวฟื้น ทั้งนี้ จากปัจจัยลบที่กดดันนั้น ทำให้เฟทโก้มีการปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 1,750 จุด จากเดิม 1,800 จุด และปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.8% จากเดิม 3.6% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดี แต่ก็ยังประเมินและติดตามอย่างต่อเนื่อง  

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงนั้น ส่วนตัวมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่ารัฐน่าจะยังคงต้องใช้นโยบายดูแลเศรษฐกิจก่อน เพราะ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวที่สร้างรายได้หลักของประเทศ แต่ยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกระทบค่าเงินบาทแน่นอน แต่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการบริหารค่าเงินอย่างดี 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทนในเดือนนี้ ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ยูเครน ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเฟดมีการลดขนาดงบดุล (QT) ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกไป โดยมองกรอบแนวรับที่ 1,630 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,670-1,675 จุด