กกพ. ชี้คลังแอลเอ็นจี2 “หนองแฟบ” พร้อมใช้กลางปีนี้ 

กกพ. ชี้คลังแอลเอ็นจี2 “หนองแฟบ” พร้อมใช้กลางปีนี้ 

กกพ.เคาะค่าบริการคลังนำเข้าแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 “หนองแฟบ” แล้ว ระบุถูกกว่าคลัง 1 ในระดับ 1-2 บาท จ่อเสนอบอร์ดกกพ.อนุมัติประกาศใช้ก่อนกลางเดือนมิ.ย. นี้หวังลดต้นทุนค่าไฟประชาชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประมาณการค่าเช่าคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (เทอร์มินอล 2) ต.หนองแฟบ จ.ระยองเรียบร้อยแล้วโดยราคาถูกกว่าคลัง 1 นิดหน่อย ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องนำเสนอบอร์ดกกพ.ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยจะต้องประกาศก่อนเปิดใช้งานจริงกลางเดือนมิ.ย. 2565 นี้ โดยขณะนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างอยู่ระหว่างทดลองใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการแล้วการกำหนดราคาจะถูกหรือไม่ถูกกว่าคลัง 1 นั้น ไม่สำคัญเท่ากับการบริหารจัดการในเรื่องของปริมาณการใช้มากกว่า แม้ว่าคลัง 1 เพราะมีออปชั่นที่ดีกว่า โดยสามารถนำก๊าซลงได้ทั้งทางท่อ ทางรถ และทางเรือ ส่วนคลัง 2 จะนำส่งก๊าซลงท่อได้อย่างเดียว ดังนั้น กกพ.จะต้องจัดสรรว่าถ้ารายที่นำเข้ามาแล้วไม่ได้นำไปขาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องจองคลัง 1

“ค่าบริการคลัง 2 จะถูกกว่าหลัก 1-2 บาท สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะทำอย่างไร ซึ่งบางบริษัทระบบเน็ตเวิร์คใช้กับคลัง 2 ไม่ได้ บางบริษัทที่ตั้งอยู่ในท่อเส้นที่ 1 ก็ต้องใช้คลัง1 เท่านั้น เพราะเป็นท่อเก่า ซึ่งตามหลักการในช่วงแรกอยากให้ใช้บริการคลัง 2 แต่ด้วยข้อจำกัด จึงต้องรอจนกว่าระบบเน็ตเวิร์คเรียบร้อยก่อน ส่วนเรื่องคุณภาพก๊าซก็สำคัญ เพราะคลัง 2 จะต่อเข้ากับท่อเส้นที่ 5 เป็นหลัก ดังนั้น คุณภาพก๊าซก็ไม่เท่ากันด้วย”

ปัจจุบันคลัง 1  ปตท.ใช้อยู่เพียงรายเดียวปริมาณ 10 ล้านตัน ต่อมากฟผ.ร่วมใช้อีก 1.5 ล้านตัน แต่ล่าสุดกฟผ.ได้ปล่อยบางส่วนให้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ร่วมใช้ด้วยในปี 2566

สำหรับวัตถุประสงค์ของการสร้างและเร่งเปิดบริการคลัง 2 ถือเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ตามแนวทางการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวและเสริมให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน(LNG Regional Hub) ต่อไป

ทั้งนี้ การเร่งให้เปิดใช้งานคลัง 2 ให้เร็วขึ้นจากปลายปี 2565 จำนวน 7.5 ล้านตันต่อปี เป็นช่วงเดือนพ.ค.2565 ที่ประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี จะช่วยให้มีการนำเข้าก๊าซมาสำรองการใช้งาน และรองรับและระบายการใช้งานคลัง 1 ด้วย เพราะหากมีการนำเข้าในปริมาณที่เยอะขึ้น จะกระทบต่อคุณภาพของก๊าซตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้โจทย์กกพ.เพื่อดูในภาพรวมว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ประเทศมากสุด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม

ในส่วนคลัง 1 มีสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งคิดค่าบริการออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ค่าเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซฯในส่วนของต้นทุนคงที่ (สะท้อนเงินลงทุน ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนการลงทุน) และ 2.ค่าบริการในส่วนของต้นทุนผันแปร (Lc) รวมเป็นเงินค่าบริการกว่า 18 บาทต่อล้านบีทียู