ไทยผนึกญี่ปุ่นฟื้นวิกฤติโควิด ถกผ่อนคลายเดินทาง 2 ประเทศ

ไทยผนึกญี่ปุ่นฟื้นวิกฤติโควิด  ถกผ่อนคลายเดินทาง 2 ประเทศ

นายกฯญี่ปุ่นเยือนไทย ลงนามเอ็มโอยู 3 ฉบับ ร่วมฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 หารือผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง 2 ประเทศ สกพอ.หวังทุนญี่ปุ่นลงทุนไทยปีนี้ 2.5 หม่ื่นล้านบาท ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด หนุนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่สมาร์ทซิตี้

วานนี้ (2 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเดินทางมาเยือนไทยของ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในรอบ 9 ปี

สำหรับการเยือนไทยครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสการครบรอบ 135 ปี​ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และ 10 ปี ของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์​ 

ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (2564-2567) ซึ่งจะเฉลิมฉลองโอกาสครบ 50 ปี แห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นใน 2566 ตลอดจนเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค

ส่วนพิธีต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะที่ทำเนียบรัฐบาล เริ่มขึ้นเวลา 16.00 น.โดย พล.อ.ประยุทธ์ นำนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตรวจแถวทหารกองเกียรติยศผสม บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

จากนั้นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และหารือข้อราชการแบบเต็มคณะที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง (MOU) 3 ฉบับ ได้แก่

1.หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น

2.ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

3.หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้หารือใน 6 ประเด็น

1.การยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน รวมทั้งจะประกาศยุทธศาสตร์ร่วมกันทุกด้านกรอบเวลา 5 ปี ซึ่งจะประกาศภายหลังการประชุมระดับสูงในครึ่งปีหลัง 2565 ที่ญี่ปุ่น

2.การหารือเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างไทยและญี่ปุ่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยี 5จี ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งหารือการเพิ่มทักษะแรงงานไทย

3.การหารือความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการรับมือโควิด-19 การผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนเดินทางไปมาเพื่อการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจได้มากขึ้น

4.การหารือความมั่นคงทางการทหาร ความมั่นคง รวมถึงความยุติธรรมในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ซึ่งกระทรวงกลาโหม 2 ประเทศ หารือถ่ายโอนเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ที่ไม่ใช่อาวุธ ซึ่งจะสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

5.หารือความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงที่ญี่ปุ่นริเริ่มหลายเรื่อง เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ไทย เมียนมาลาวและเวียดนาม (ACMECS) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใส่เงินเข้ามาในกองทุน 1.38 ล้านดอลลาร์ 

6.ได้หารือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเห็นตรงกันในการเคารพอธิปไตยและดินแดน และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากสงครามที่เกิดขึ้น

 

ญี่ปุ่นยกประเด็นยูเครน-รัสเซีย

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคนี้ มีบริษัทมาลงทุน 6,000 บริษัท มีคนญี่ปุ่นในไทย 80,000 คน ยังยืนยันสนับสนุนไทยเป็นซัพพลายเชน เช่น BCG การเติบโตสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมทั้งเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ไปประชุมระดับสูงเพื่อหาความร่วมมือที่ญี่ปุ่น

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งงบประมาณด้านสาธารณสุข รัฐบาลี่ปุ่นต้องการให้ความช่วยเหลือจึงให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 50,000 ล้านเยน โดยลงนามระหว่างการกู้ยืมไปแล้ว เป็นความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากที่ช่วยเหลือเรื่องยาและวัคซีน

“ได้หารือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ไม่สนับสนุนการรุกรานเข้าไปก้าวล่วงอธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่รับได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน”

 

ตั้งเป้าดึงลงทุน2.5หมื่นล้าน

นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายการลงทุนของญี่ปุ่นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2565 อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มีมูลค่าลงทุน 19,800 ล้านบาท โดย สกพอ.ได้เสนอประเด็นการผลักดันการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย 3 ข้อ คือ

1.การเพิ่มศักยภาพให้อีอีซีเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

อุตสาหกรรมอากาศยานในด้านวัสดุอวกาศ การซ่อมแซมอากาศยาน (MRO) และชิ้นส่วนดาวเทียม ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงระดับโลก ในขณะเดียวกันภาคเอกชนในอีอีซียกระดับสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวได้

2.การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ครอบคลุมอุตสาห์กรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทนำในการผลักดันการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยเห็นควรให้ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไฮโดรเจน กับญี่ปุ่น โดยใช้อีอีซีเป็นพื้นที่นำร่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ในภูมิภาค 

รวมทั้งใช้อีอีซีเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนอุตสาหกรรมดังกล่าวตามโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) และนโยบายเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตจากนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) ของญี่ปุ่น ที่สนับสนุนภาคเอกชนญี่ปุ่นลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ 

3.การส่งเสริมความร่วมมือในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอีอีซี ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ สกพอ.พัฒนาแนวคิดการดำเนินงานและจะชักชวนนักลงทุนที่สนใจการลงทุนและพัฒนาระยะต่อไป 

 

ถ่ายโอนเทคโนฯความมั่นคง

นางสาวโอโนะ ฮิคาริโกะ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาค ยึดมั่นในหลักการพื้นฐานร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจึงถือโอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีการหารือเชิงลึกทั้งประเด็นทวิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งระดับทวิภาคีประกอบด้วย 

1.ความร่วมมือด้านความมั่นคงและกฎหมาย หารือเรื่องข้อตกลงการถ่ายโอนเครื่องมือและเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ไม่ใช่อาวุธ โดยจะกำหนดรายละเอียดในภายหลังว่าเป็นอุปกรณ์ประเภทใด

2.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สนับสนุนรัฐบาลไทยสร้างความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะในด้านการขนส่งและการดูแลสุขภาพ

3.การรับมือโควิด-19 ให้เงินกู้สกุลเยน (Yen Loan Aid) 50,000 ล้านเยน

ทั้งนี้ ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนสำหรับญี่ปุ่น โดยกรณีนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนามเพราะค่าแรงถูกกว่านั้น ไม่เกิดขึ้นกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การดูแลสุขภาพมีคุณภาพสูง บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดี

สำหรับการเปิดประเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เผยว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นเปิดรับนักศึกษาต่างชาติและนักธุรกิจแบบมีเงื่อนไข แต่การเปิดประเทศเต็มตัวนายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณา ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ในตอนนี้