ตัวช่วยลด "ราคาดีเซล" มีมากกว่า "กองทุนน้ำมัน"

ตัวช่วยลด "ราคาดีเซล" มีมากกว่า "กองทุนน้ำมัน"

ที่ผ่านมา มีหลายข้อเสนอ รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันไปจนถึงการลดค่าการกลั่นลงหลังจากที่ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ของโรงกลั่นในประเทศออกมาดี ซึ่งอาจเป็นการลดค่าการกลั่นชั่วคราว รวมถึงการเข้ามาดูค่าการตลาดว่าปรับลดลงได้หรือไม่

การกำหนดเพดานตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ถูกยกเลิกลงไปหลังจากถูกนำมาใช้ใน 3 รัฐบาลที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในบางช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดปรับสูงขึ้นมาก ได้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นตัวช่วย เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับหน้าที่ในการอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้อยู่ในระดับที่สูง โดยทุกรัฐบาลมีเหตุผลสำคัญเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลกระทบกับราคาสินค้า

เพดานราคาน้ำมันดีเซลถูกขยับมาที่ลิตรละ 35 บาท หลังจากที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องติดลบ 56,200 ล้านบาท โดยวันที่ 30 เม.ย.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 10.89 บาท แต่วันที่ 1 พ.ค.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดการอุดหนุนเหลือ 8 บาทเศษ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยน้ำมันเบนซินถูกเก็บเข้าลิตรละ 7.18 บาท ในขณะที่แก๊สโซฮอลล์ 95 และ 91 ถูกเก็บลิตรละ 1.02 บาท

ภาวะดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพที่เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐยังคงอุดหนุนมากกว่าลิตรละ 8 บาท ถึงแม้ว่า กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการขยับราคาแบบขั้นบันไดในเพดาน 35 บาท แต่หากคำนวณราคาดีเซลจริงในปัจจุบันจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังต้องอุดหนุนน้ำมันดีเซลลิตรละประมาณ 5 บาท นั่นหมายความว่า เงินที่เก็บได้จากน้ำมันเบนซินยังคงไหลไปอุดหนุนน้ำมันดีเซลทั้งหมด

ที่ผ่านมา มีหลายข้อเสนอในการหาทางลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรรับไว้พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นลดข้อเสนอการลดการเติมไบโอดีเซล (B100) ลงในดีเซล หลังจากที่ราคา B100 สูงขึ้นตามต้นทุนปาล์มน้ำมันในปัจจุบันที่มีราคากิโลกรัมละ 10.8-11.2 บาท สูงกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกันราคาที่กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งทำให้สมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ขอให้ลดการเติม B100 เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันไปจนถึงการลดค่าการกลั่นลงหลังจากที่ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ของโรงกลั่นในประเทศออกมาดี ซึ่งอาจเป็นการลดค่าการกลั่นชั่วคราว รวมถึงการเข้ามาดูค่าการตลาดว่าปรับลดลงได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกภาระอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ที่มาของเงินในกองทุนมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน รวมแล้วรัฐบาลมีหลายทางเลือก อย่ามุ่งแต่เร่งหาเงินกู้ 20,000 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว