PTG รุก New S-Curve เปิดธุรกิจใหม่ 3-5 บริษัทต่อปี

PTG รุก New S-Curve  เปิดธุรกิจใหม่ 3-5 บริษัทต่อปี

“ทุกวันนี้การทำธุรกิจน้ำมันอย่างเดียวเป็นความเสี่ยง เหมือนใส่ไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว เราต้องหานิวแลนด์ใหม่ที่ไม่ใช่น้ำมันเข้ามาเพื่อกระจายความเสี่ยง”

นี่คือคำพูดของ พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 2 ด้วยจำนวนสาขามากกว่า 2,200 สาขาทั่วประเทศ 

โดย เขา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนการทรานฟอร์มองค์กรว่า บริษัทต้องการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำมันซึ่งผันผวนสูง เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยจะอิงกับราคาตลาดโลกและปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ขณะเดียวกันน้ำมันเป็นเรื่องของความมั่นคงและมีผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ภาครัฐจึงต้องเข้ามาควบคุม

นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำมันมีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น ใน 100 บาท มีกำไรเพียงแค่ 1 บาทเท่านั้น และมีกำไรขั้นต้น 7-8% ขณะที่ธุรกิจนอนออยล์แม้รายได้น้อยแต่กำไรดี โดยมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 60-70%

ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันมาได้ 7-8 ปี แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ยิ่งเร่งทำให้ต้องปรับตัว เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าองค์กรไหนไม่ปรับตัวจะถูกดิสรัปอย่างแน่นอน

โดยบริษัทตั้งเป้า 5 ปี (2565-2569) จะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่ในกลุ่ม New S-Curve ที่ไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจน้ำมัน ปีละ 3-5 ธุรกิจ มีทั้งที่บริษัทลงทุนเอง ร่วมทุนกับพันธมิตร การเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ ภายใต้กลยุทธ์  Power Co-creation ด้วยการดึงจุดแข็งของพันธมิตรมาผนึกกำลังกัน เพื่อทำให้เกิดการประหยัดจากความเร็ว (Economy of Speed) สามารถผลิตสินค้าหรือพัฒนาบริการใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง

“เป้าหมายของเราตอนนี้ คือ การหาธุรกิจ New S-Curve ใหม่ๆ มาเป็นนิวแลนด์ที่ไม่ใช่น้ำมัน เราต้องมองไปข้างหน้าต้องวิ่งนำหน้าเพื่อมองหาตัวดิสรัป และจะได้รีบวางแผนเพื่อไม่ให้ถูกดิสรัป”

PTG รุก New S-Curve  เปิดธุรกิจใหม่ 3-5 บริษัทต่อปี

สำหรับธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น การให้บริการสินเชื่อ (Lending) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรมีทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทจดทะเบียน ถ้าตกลงกันได้น่าจะเริ่มเดินเครื่องธุรกิจใหม่ได้เลยในปีนี้ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีพันธมิตร บริษัทลุยเดี่ยวคงเปิดตัวในปีหน้า คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตไม่เกินไตรมาส 1 ปี 2566

“เรามีฐานลูกค้าบัตร Max Card อยู่กว่า 17 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2-3 ล้านคน เรารู้พฤติกรรมลูกค้าเหล่านี้อยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร ทำให้เราได้เปรียบคนอื่น แทบไม่ต้องไปหาลูกค้าเลย ที่สำคัญ Lending แข่งกันที่สาขา ซึ่งเรามีมากกว่า 2 พันสาขา และที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น คือ กู้เงินแล้วได้แต้ม ได้รับบริการที่ดี สามารถสะสมแต้ม เป็นสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้านำไปใช้ในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของเราได้”

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ, บริการซัก อบ แห้ง, ค้าปลีกโชห่วย รวมถึง “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่กำลังมาแรง โดยล่าสุดได้จับมือกับพันธมิตร บริษัท ยูนิท จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด โดยเตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) คาดเปิดให้บริการภายในปีนี้

“เราต่างจากผู้เล่นคนอื่นๆ เขาเป็นเหมือนตลาดให้นักลงทุนมาซื้อขายกัน แต่เราเป็นนายหน้า คล้ายๆ ผู้จัดการกองทุน จะไปสกรีนหาโปรดักส์ตามวงเงิน ตามผลตอบแทบ ตามความเสี่ยงที่ลูกค้าอยากได้”

โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจากการทรานฟอร์มองค์กรและการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ จะทำให้สัดส่วนกำไรสุทธิจากธุรกิจนอนออยล์ในปี 2569 เพิ่มเป็น 60% จากปัจจุบันที่ราว 15% ขณะที่สัดส่วนกำไรสุทธิของธุรกิจน้ำมันจะลดลงเหลือ 40% จากปัจจุบันที่ 85%

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจปี 2565 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งเป้ารายได้และยอดขายน้ำมันเติบโต 6-10% และกำไรสุทธิก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม EBITDA เติบโต 10-15% โดยธุรกิจน้ำมันยอดขายในช่วงต้นปีชะลอตัวลงไปบ้าง เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันกลับสู่ภาวะปกติ ถ้าไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้น การบริโภคน้ำมันจะดีขึ้นจากปีก่อนแน่นอน

แต่ยอมรับว่าปีนี้ราคาน้ำมันผันผวนและคาดการณ์ลำบาก ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยปีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันเพิ่มปีละ 100 สาขา ส่วนธุรกิจแอลพีจีผลประกอบการน่าจะนิวไฮต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนมากขึ้น

และปีนี้เตรียมดันบริษัทลูก 2 แห่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แก่ “ธุรกิจแอลพีจี” ของบริษัท แอตลาส เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และ “ปาล์มคอมเพล็กซ์” ของบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด ส่วนในปี 2568 จะถึงคิวของกาแฟพันธุ์ไทยและศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์

“เราจะเป็นโฮลดิ้ง พยายามผลักดันบริษัทลูกเข้าตลาดให้หมด ไม่ต้องช่วย ไม่ต้องให้เงินเขาแล้ว เขาก็ออกไปทำงานหาเงิน ส่งกลับมาให้พ่อแม่ในรูปของปันผล หวังว่าจะได้เห็นสัก 10 บริษัทที่จะแยกออกไป”