จีโนมิกส์ไทยแลนด์ “อีอีซี” หนุนฮับการแพทย์เวิลด์คลาส

จีโนมิกส์ไทยแลนด์ “อีอีซี” หนุนฮับการแพทย์เวิลด์คลาส

จีโนมิกส์ไทยแลนด์ กำลังเข้าสู่ระยะการถอดรหัสพันธุกรรมกลุ่มตัวอย่าง 200 รายแรก จาก 5 กลุ่มโรค เพื่อแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลสร้างบิ๊กดาต้า หรือห้องสมุดดีเอ็นเอของคนไทย

ซึ่งนับเป็นไมล์สโตนการยกระดับการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สู่การวินิจฉัยและรักษาโรคแม่นยำ รวมทั้งต่อยอดความก้าวหน้าทางการแพทย์ ยกระดับบริการการแพทย์ไทยสู่มาตรฐานเวิลด์คลาส

ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เริ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมกลุ่มตัวอย่าง 200 รายแรกแล้ว ในวันที่ 18 เม.ย.2565 ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท จีโนมิกส์ อินเวชั่น จำกัด บริษัทเอไอดี จีโนมิกส์ จำกัด และบริษัท เซินเจิ้น เจ่าจือเด้า เทคโนโลยี จำกัด 

การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การผลักดันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งร่วมลงนามในสัญญาจ้างและเช่าพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชนรวม 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 458,200,000 บาท

 

การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การผลักดันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งร่วมลงนามในสัญญาจ้างและเช่าพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชนรวม 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 458,200,000 บาท

รวมทั้งในปัจจุบัน กิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ ใช้ระยะเวลา 7 วัน ในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอตัวอย่าง 200 ราย ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพื่อรองรับปริมาณการตรวจสอบตัวอย่างอีเอ็นเอที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีการพิจาณาเปิดรับนักวิจัยในพื้นที่อีอีซีก่อน

สำหรับแผนการดำเนินงานแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ และได้กำหนดให้มีวงจรการบริการทางการแพทย์รวม 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 

1.เครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิก ทั่วประเทศ 36 หน่วยงาน ซึ่งทยอยเปิดรับกลุ่มตัวอย่างดีเอ็นเอ 50,000 ตัวอย่างในผู้ป่วย 5 กลุ่มโรคเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคหายาก กลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไตกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โควิด-19 และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม 

2.ศูนย์ทรัพยากรชีวภาพ ดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่สกัดตัวอย่างรหัสพันธุกรรม ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 6,469 ตัวอย่าง 

3.ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลับบูรพา (บางแสน) ตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลสร้างบิ๊กดาต้าห้องสมุดดีเอ็นเอ รวมทั้งจะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ 

4.หน่วยบริหารจัดการข้อมูลจีโนมมนุษย์ ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่วชาติ(สวทช.) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเก็ยฐานข้อมูลดีเอ็นเอ เพื่อใช้ในการบริการสาธารณสุข การวิจัยและการเรียน โดยดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 

5.ศูนย์แปลงผลข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะด้าน/โรค แบ่งเป็นการแปลผลข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อใช้ในการรักษาและบริการสาธารณสุข และศูนย์แปลผลข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม ทั้งนี้ สกพอ.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับโรคมะเร็ง โรคหายากทางพันธุกรรมและโรควินิจฉัยยาก 

6.ศูนย์บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ดำเนินการโดยโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซีและโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะทาง ทำหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลและการให้ยาที่แม่นยำด้วยข้อมูลทางพันธุกรรม

จีโนมิกส์ไทยแลนด์ “อีอีซี” หนุนฮับการแพทย์เวิลด์คลาส พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านสาธารณสุข สกพอ.กล่าวว่า การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับโลกอยู่แล้ว โดยพื้นฐานของความแม่นยำในการรักษาจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลพันธุกรรมเพื่อการรักษาที่เฉพาะบุคคล 

ทั้งนี้ การตรวจและเก็บข้อมูลดีเอ็นเอคนไทย 50,000 คน จะเป็นการสะสมข้อมูลพื้นฐานเปรียบเสมือนการสร้างห้องสมุดดีเอ็นเอ เพื่อนำไปใช้ในการต่อยอดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ โดยมีความร่วมมือเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเดียวกันกับประเทศอื่น ซึ่งจะเกิดการถ่ายทอดและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว โดยที่ไทยไม่ต้องเป็นผู้นำเข้าฝ่ายเดียว รวมทั้งเพิ่มอัตราการจ้างงานสำหรับบุคคลากรทักษะสูงด้านการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่อีอีซีด้วย

นอกจากนี้ ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่บริษัทต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยและลงทุนในอีอีซี โดยความพร้อมในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจะดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งต้องการส่งดีเอ็นเอเข้ามาตรวจและใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อทดลองและพัฒนายากับยีนส์ของคนไทย 

โดยสำหรับแผนดำเนินการในระยะต่อไป อยู่ระหว่างการศึกษาความร่วมมือในการแปลผลข้อมูลเพื่อรักษาโรคมะเร็งและโรคหายากในเด็กแรกเกิด

นุสรา สัตย์เพริศพราย รองผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ พร้อมเริ่มดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของมนุษย์แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นศักยภาพและการเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ 

ทั้งนี้ แผนจีโนมิกส์ไทยแลนด์มุ่งหวังว่าจะยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ผ่านการถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคและแผนการรักษามีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่ตรงจุด อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงการทำงานสาธารณสุขที่ดีขึ้นในระดับนโยบายโดยไม่ต้องคิดค้นสิ่งใหม่ อาทิ การทดสอบยีนส์แพ้ยา