ความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลก จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้อไม่แน่นอนจากปัจจัยในหลายประเทศ

ความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลก จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้อไม่แน่นอนจากปัจจัยในหลายประเทศ

ทิศทางอัตราเงินเฟ้อไม่แน่นอน ปัจจัยหนุนทั้ง ระบบการผลิต และระบบขนส่งของจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ซึ่งการคาดการณ์ของธนาคารกลางมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ พร้อมผลประชุม Fed สัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 3 ถึง 4 พฤษภาคม นี้

การประเมินภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงมีความท้าทายอีกมากในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะจากทิศทางอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากหลายปัจจัยยังมีการเปลี่ยนแปลง อาทิ ราคาพลังงาน ที่ยังคงมีโอกาสผันผวนจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หากนับตั้งแต่ต้นปี ราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวสูงระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล

นอกจากนี้ การกลับมาระบาดของไวรัส COVID-19 ในจีน ยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งจากทางด้านอุปสงค์ที่ลดลงจากผลของการ Lockdown ในจีน และจากทางด้านอุปทาน ที่สินค้าจากจีนหายไปซึ่งกระทบกับ Supply Chain ของสินค้าอื่นๆ ดังนั้น จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มสูงขึ้น ทางรัฐบาลจีนจึงได้มีการเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหม่ ท่ามกลางปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอน ล่าสุด รัสเซียยังเดินกลยุทธ์ใหม่ๆ เช่น การกำหนดให้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสกุลเงิน Ruble มิเช่นนั้น จะหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติ

จับตาจีนหลังกลับมาส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้อโลกหรือไม่ ?

ปัญหาการระบาด COVID-19 ครั้งใหม่ ในจีน นำไปสู่การ Lockdown เมืองสำคัญต่างๆ อย่างในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนได้มีการ Lockdown เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางสำคัญของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงาน จากที่บริษัทกว่า 100 แห่งเป็น Supplier สำคัญของ Apple และ Supplier ให้กับริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่นๆ อีก

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังมีท่าเรือสำคัญอีกด้วย อย่างไรก็ดีรายงานล่าสุด ณ วันที่ 27 เมษายน การระบาดของไวรัสในเมืองเซี่ยงไฮ้ ได้ปรับลงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์แล้ว ขณะที่การติดเชื้อไวรัสในปักกิ่งไม่ได้สูงมาก ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่กลับสร้างคำถามให้กับ นักลงทุนทั่วโลกหลังจากนี้รัฐบาลจีนจะเลือกใช้การควบคุมเพิ่มขึ้นหรือไม่

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามให้การ Lockdown ในแต่ละเมือง เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโลก จากปัจจัยทั้ง 2 ด้านคือ 1. อุปสงค์สินค้าโลก (Global Demand) โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะลดลง และ 2. อุปทานสินค้าโลก (Global Supply) จากการชะลอการผลิตในหลายโรงงาน ซึ่งยังไม่รวมถึงภาวะชะงักการขนส่งสินค้าในท่าเรือสำคัญของจีน

จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งใหม่ในจีนนี้ ทำให้ทางรัฐบาลจีนได้เริ่มส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการประชุม Central Committee for Financial and Economic ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ย้ำถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง, พลังงาน และน้ำ ทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าหากจีนเลือกที่จะเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย GDP ปี 2022 ให้ได้ที่ 5.5% ความต้องการสินค้า Commodities มีโอกาสจะเร่งเพิ่มขึ้นกระทบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้

นอกจากนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์ จาก Bloomberg คาดรัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขาดดุลงบประมาณได้สูงถึง 8.2% ของ GDP จากระดับ 6.5% ในปี 2021 และจะปรับลด RRR และ อัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate ระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายน นี้

อัตราส่วน Debt to GDP จีน - รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมากผ่านการขาดดุลงบประมาณ

ความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลก จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้อไม่แน่นอนจากปัจจัยในหลายประเทศ ที่มา : Bloomberg

รัสเซียเดินเกมกดดันคู่ค้าจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติในสกุลเงิน Ruble

กรณีสงครามในรัสเซียและยูเครน ถึงแม้ประเทศ ทั้ง 2 ไม่ได้มีเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจ แต่รัสเซียถือว่าเป็นประเทศสำคัญต่อภาคอุปทานพลังงาน และสินค้าเกษตรอย่างมาก นักวิเคราะห์จาก Bloomberg ได้สร้างแบบจำลองคาดการณ์เงินเฟ้อของยุโรป ในรูปด้านล่างจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ภาวะสงครามยังคงยึดเยื้อแต่ไม่ได้ถูกยกระดับความรุนแรงมากขึ้น พบว่าภายหลังไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลง แต่ในกรณีที่มีการยกระดับสงครามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อจะยิ่งช้าออกไปได้อีก

ล่าสุด รัสเซียต้องการให้ โปร์แลนด์ และบัลกาเรีย จ่ายเงินสกุล Ruble ในการชำระค่าก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ล่าสุด Bloomberg รายงานจากแหล่งข่าว เบื้องต้นมีผู้ซื้อ 4 ราย ได้จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติไปแล้ว แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดมาจากประเทศใด

คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในยุโรป – คาดชะลอหลังไตรมาสที่ 2

ความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลก จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้อไม่แน่นอนจากปัจจัยในหลายประเทศ

ที่มา : Bloomberg

ขณะที่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 2 กำลังจะผ่านไป ภาพของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังทรงตัวในระดับสูง แม้คาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และธนาคารกลางหลายแห่งเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงได้ในที่สุด แต่ปัจจัยต่างๆ ยังคงมีความเปลี่ยนแปลง หลังจากนี้ ยังมีปัจจัยหลากหลายที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อได้ทั้งบวกและลบ

ดังนั้น การคาดการณ์ของธนาคารกลางมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ได้เห็นมาแล้ว จากปลายปี 2021 ที่ Fed มีมุมมองต่อทิศทางเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากนี้ยังคงจำเป็นต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Fed ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 3 ถึง 4 พฤษภาคม นี้

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds