แรงงาน ’หนี้ท่วม’ 2 แสนบาท/ครัวเรือน!!

แรงงานไทยแบกภาระหนี้กว่า 2 แสนบาทสูงสุดในรอบ 14 ปี ม.หอการค้าไทย เผยโพลแรงงานปี 65 พบ แรงงานไทยมีหนี้สินกว่า 2.1 แสนบาท เพิ่มขึ้น 5.90% ถือเป็นมูลค่าสูงขึ้นในรอบ 14 ปี สาเหตุหลักจากรายได้ไม่พอใช้หนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยในปัจจุบันทั่วประเทศ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย.2565 พบว่า    แรงงานส่วนใหญ่ 52.0% เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และ 48.0% อยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31.4% อยู่ในภาคกลาง 22.4% เหนือ 15.7% ใต้ 14.0% และอยู่กรุงเทพ ปริมณฑล 16.5% และส่วนใหญ่ถึง 99%  มีหนี้สิน ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562

โดยการสร้างหนี้ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิต สูงที่สุด และนำเงินไปใช้เงินกู้ รองลงมาเป็นหนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล 

        "ภาพรวมแรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยกว่า 2.1 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.90% เทียบกับปี2564  ถือเป็นมูลค่าสูงขึ้นในรอบ 14 ปี โดยสาเหตุหลักๆที่ทำให้เป็นหนี้เกิดจากรายได้ของแรงงานไม่พอกับรายจ่ายที่สูงขึ้นเนื่อง   ค่าครองชีพและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหนี้เดิมทำให้ต้องมีการระมัดระวังการใช้จ่ายและมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น "
         
อย่างไรก็ตามในรอบ 1ปีที่ผ่านมา แรงงานส่วนใหญ่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ 68.5% ที่ผิดชำระหนี้มีเพียง 31.5%  โดยการชำระหนี้ต่อเดือนในระบบ เฉลี่ยอยู่ที่ 7,839 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 7.68% ต่อปี ส่วนการชำระหนี้นอกระบบ เฉลี่ย 3,755 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 12.57% ต่อเดือน
        
สำหรับการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานในปีนี้ พบว่าจะมีเงินสะพัดเพียง 1,525 ล้านบาท ลดลง 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำให้บรรยากาศในวันแรงงานปีไม่คึกคักและจากการสำรวจยังพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีความเหมาะสม 49.0% โดยให้เหตุผลว่า ราคาสินค้าแพง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เศรษฐกิจไม่ดี จึงมีความคาดหวังให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพราะจะทำให้อำนาจของการซื้อเพิ่มขึ้น และมองว่าการขึ้นค่าแรงไม่ได้มีผลต่อการกระทบต่อราคาสินค้าในปัจจุบันมาก และเห็นสมควรว่าไม่ควรผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคด้วย

เมื่อถามถึงโอกาสในการตกงาน ผลสำรวจพบว่า แรงงานงานภาคบริการ ร้านอาหารคาดว่าตนเองมีโอกาสในการตกงานปานกลางถึงมากที่สุด 65 % ทั้งนี้แรงงานไทยมีความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด รองลงมาเป็นราคาสินค้าในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด 19 ราคาสินค้าในปัจจุบัน  การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน การใช้แรงงา่นต่างด้าวแทนแรงงานไทย  การชำระหนี้ที่อาจไม่พอ ซึ่งแรงงานอยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ  ดูแลการว่างงาน และดูแลเรื่องหนี้ของแรงงาน

         “จากปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่าสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าน้ำมัน ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายลดลง เป็นผลให้เศรษฐกิจภาพรวมขาดกำลังและไม่โดดเด่น ทำให้หนี้ครัวเรือนในปี 2565 มีโอกาสสูงสุด 95% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)เป็นผลให้ จีดีพี ปี 2565 มีโอกาสโตอยู่ในกรอบ 3-3.5% แต่หากภาครัฐ ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทย ปีนี้ให้ขยายตัวเหลือเพียง 3%” นายธนวรรธน์ กล่าว
          
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำนั้นอยู่ที่ 336 บาทโดยแรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับตามค่าครองชีพ นั้น หากดูให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าปี 2565 จะโต 4-5% น่าจะต้องมีการให้ปรับขึ้น 3-5% เป็นอย่างน้อย ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ขยับขึ้นไปถึง 492 บาทต่อวัน หากดูจากปัจจุบันที่ 336 บาทต่อวัน จะมีการขยับสูงถึง 10-20% เป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้นายจ้าง ขาดสภาพคล่องแบบทันทีทันใดโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และจะมีการปรับราคาสินค้า เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค จึงจะต้องนำมาพิจารณาด้วย อีกทั้งจะเป็นตัวจะเป็นการเร่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น และการปลดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ร้านอาหารที่มีแรงงานไม่มากโดยหลักการที่ดีที่สุด ควรจะยึดตามการพิจารณาไตรภาคีของแต่ละจังหวัดและให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
          
ทั้งนี้สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 จะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพ เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้มีกำลังซื้อมากขึ้น เพราะค่าอัตราค่าแรงในปัจจุบันถือว่าไม่มีความเหมาะสมและไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า แต่หากขึ้นต้องปรับขึ้นให้เหมาะสม เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก จนมากเกินไปอีกด้วย