รัฐเลิกอุ้มดีเซล วิกฤตซ้ำ ดันราคาสินค้าพุ่ง

รัฐเลิกอุ้มดีเซล วิกฤตซ้ำ ดันราคาสินค้าพุ่ง

ราคาสินค้ายังไม่จบ ผู้ผลิตสินค้าอั้นไม่อยู่ จ่อปรับขึ้นเพียบ ด้านพาณิชย์ยังเข้มขอให้ตรึงราคาสินค้าไป ก่อนหวั่นกระทบผู้บริโภค

ดีเดย์  1 พ.ค. รัฐบาลจะเลิกอุ้มราคาน้ำมันดีเซล  

ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการจ่อปรับราคาสินค้า หลังจากแบกภาระต้นทุนราคามาตั้งแต่ปลายปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาสินค้า ก็พยามขอความร่วมมือจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการตรึงราคาต่อไปอีกรระยะหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า18 หมวด ได้แก่ อาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง 

ปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าหลายรายได้ยื่นทยอยขอปรับราคาสินค้าต่อกรมการค้าภายในแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทาง ขณะนี้สินค้าหลายรายการอั้นราคาไม่อยู่แล้ว เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น วัตถุดิบบางรายการในตลาดโลกมีน้อยการแข่งขันไม่มีก็ทำให้แย่งกันซื้อส่งผลต่อราคาที่สูงขึ้น  

 

ทั้งนี้กรมการค้าภายในได้วิเคราะห์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นว่าจะกระทบต่อต้นทุนสินค้าเท่าไร พบว่า  แม้ราคาน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต โดยค่าขนส่งไม่ถึง 10% (สูงสุด 8.75%) ของต้นทุนสินค้า และค่าน้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 40% ของต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของสินค้าแต่ละรายการ น้ำมันดีเซลมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากัน โดยรวมถือว่ามีผลน้อยมาก โดยราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0002% - 0.08% กรณีปรับขึ้นทุกๆ 1 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004% -0.15% 

ด้านภาคเอกชน โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชารองประธานสภาหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สะท้อนความเห็นว่า   ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาตลอดตามราคาตลาดโลก ทั้งผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะอาหาร ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น เหล็ก ที่ทำกระป๋องเพราะปริมาณในตลาดโลกที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จีนลดกำลังการผลิต พสาสติกที่นำมาทำซอง กระดาษที่นำมาทำกล่อง เป็นต้น ยิ่งราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นการซ้ำเติมไป เพราะหากต้นทุนการผลิตขึ้นมา ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกภาระต้นทุนได้อีก ก็จะเป็นต้องปรับราคาสินค้า 

สอดคล้องกับความเห็นของนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ที่ระบุว่า   สินค้าหลายรายการทยอยปรับราคามาตั้งแต่ต้นปี ก็จะมีสินค้าที่อยู่ในหมวดสินค้าควบคุมก็ได้ยื่นขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เช่น ผงซักฟอก บะหมี่สำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่ไม่ได้ถูกควบคุมราคาก็ปรับราคาขึ้นหรือไม่ก็ลดขนาดของสินค้าลง ขายราคาเท่าเดิม สิ่งที่อยากให้กลับไปพิจารณาใหม่คือ ตัวโครงสร้างราคาสินค้า เพราะสินค้าบางรายการไม่ได้สะท้อนราคาต้นทุนสินค้าที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะทางการขนส่ง ตัววัตถุดิบ เป็นต้น 

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมายอมรับว่า ขณะนี้ ต้นทุนต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต ถ้าจะปรับขึ้นราคาขายปลีก ก็ขอให้คิดส่วนต่างกำไรน้อยที่สุด หรือขอให้เพียงพอมีกำไรบ้าง แต่ไม่ใช่ขาดทุนจนต้องหยุดผลิตสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคอยู่ได้ด้วย และผู้ผลิตสินค้าก็ยังทำธุรกิจต่อไปได้  

ปัญหาราคาสินค้า ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลเพราะเป็นปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น รายได้ไม่พอรายจ่าย กำลังซื้อน้อย หากราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพพุ่งสูงขึ้นอีกก็กลายเป็นภาระที่ซ้ำเติมประชาชนแต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตก็ไม่สามารถแบกภาระต้นทุนได้ ก็อาจถึงขั้นต้องหยุดผลิตสินค้าก็ยิ่งจะกระทบเป็นห่วงโซ่ แนวทางใดที่จะช่วยผ่อนคลายก็ต้องเร่งทำเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น