กบน. เคาะ 1 พ.ค. ดีเซลลิตรละ 32 บาท พร้อมปรับเพดานใหม่ไม่เกิน 35 บาท

กบน. เคาะ 1 พ.ค. ดีเซลลิตรละ 32 บาท พร้อมปรับเพดานใหม่ไม่เกิน 35 บาท

กบน.เคาะปรับขึ้นดีเซล 1 พ.ค. นี้ ราคาหน้าปั๊มลิตรละ 32 บาท พร้อมปรับเพดานขยับสัปดาห์ละ 1 บาท แต่ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ท่านกลางวิกฤตราคาตลาดโลกพุ่ง

รายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นแบบขั้นบันไดตามมติคณะรัฐมนตี (ครม.) ภายหลังวันที่ 30 เม.ย. 2565 รัฐบาลจะปล่อยราคาดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท และจะพยุงราคาคนละครึ่งแทนแต่หากราคาน้ำมันดิบยังคงสูงขึ้น การช่วยเหลือคนละครึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและราคาสูงอยู่ในปัจจุบัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 กระทรวงพลังงาน โดยมติที่ประชุมกบง.ได้ปรับราคาน้ำมันดีเซลในเพดานใหม่จากไม่เกินลิตรละ 30 บาท เป็นจะไม่เกินลิตรละ 35บาท โดยให้ยึดหลักตาม ครม. ที่ส่วนเกินลิตรละ 30 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่งประชาชนจ่ายอีกครึ่งหนึ่งและราคาขึ้นตามจริงครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากเงินบาทที่อ่อนค่าและราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่สูงถึง 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนที่แท้จริงของน้ำมันดีเซลที่ขายปลีกในประเทศไทยอยู่ที่ลิตรละ 40บาท ซึ่งหากกระทรวงพลังงานมีการราคาปรับขึ้นทันทีวันที่ 1 พ.ค. 2565 จะทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 35 บาททันที ดังนั้น กบน. จึงเห็นชอบให้ขยับขึ้นจากลิตรละไม่เกิน 30 บาท เป็นลิตรละ 32 บาทก่อน

“ภายหลังวันที่ 1 พ.ค. 2565 เมื่อปรับราคาขายปลีกเป็นลิตรละ 32 บาทแล้ว กบง.จะคอยติดตามสถานการณ์​ทุกวัน และอาจมีการพิจารณาทุก 7 วัน ว่าหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงสูงอยู่ในระดับเดิมก็อาจจจำเป็นที่จะต้องขยับขึ้นครั้งละไม่เกินลิตรละ 1 บาท แต่จะไม่เกินลิตรละ 35 บาท ซึ่งกระทรวงพลังงานหวังว่าวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะไม่รุนแรงไปกว่านี้จนทำให้ราคาน้ำมันดีเซลโลกขยับขึ้นสูงไปกว่านี้อีก” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันล่าสุด วันที่ 24 เม.ย.2565 สถานะกองทุนติดลบอยู่ 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ติดลบ 31,976 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดที่ 9,675 ล้านบาท โดยใช้เงินอุดหนุนดีเซลวันที่ประมาณลิตรละ 9.57 บาท รวมวันละ 634.93 ล้านบาท (65 ล้านลิตร) เงินบัญชีน้ำมันไหลเข้าวันละ 28.56 ล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกวันละ 606.37 ล้านบาท เดือนละประมาณ 18,000 ล้านบาท รวมเงินอุดหนุนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนประมาณ 20,000 ล้านบาท